รีเซต

แผ่นดินไหวไทยมีโอกาสเกิดซ้ำ คาดการณ์ไม่ได้แต่เตรียมตัวได้

แผ่นดินไหวไทยมีโอกาสเกิดซ้ำ  คาดการณ์ไม่ได้แต่เตรียมตัวได้
TNN ช่อง16
1 เมษายน 2568 ( 17:35 )
20

นักวิชาการ จุฬาฯ เผยแผ่นดินไหวไทยมีโอากาสเกิดซ้ำ เฝ้าระวังรอยเลื่อนตาบอดพิษณุโลก - กาญจนบุรี คาดการณ์ไม่ได้แต่เตรียมตัวได้

เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ได้สร้างความตื่นตระหนกและส่งผลกระทบในหลายด้าน ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดงาน Chula the Impact ภายใต้หัวข้อ "จุฬาฯ ระดมคิด ฝ่าวิกฤตแผ่นดินไหว: เราจะรับมือและฟื้นตัวได้อย่างไร?" เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ หาแนวทางเตรียมความพร้อม และเสนอแนวทางฟื้นฟูจากเหตุแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ประเทศไทยมีกี่รอยเลื่อน - ความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนในอนาคต

อาจารย์ปัญญา จารุศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายว่า ประเทศไทยมีรอยเลื่อนที่มีพลังทั้งหมด 16 รอย ซึ่งขนานไปกับ รอยเลื่อนสะกาย ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพื้นที่ที่มีรอยเลื่อนพาดผ่านถือว่ามีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวสูง นอกจากนี้ ยังมี "รอยเลื่อนตาบอด" หรือรอยเลื่อนที่ไม่ได้รับการระบุชัดเจน เช่น ที่ อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก และ รอยเลื่อนด่านเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งประชาชนไม่มีโอกาสรับรู้ถึงความเสี่ยงได้หากไม่มีการสำรวจทางธรณีวิทยา

แผ่นดินไหว: คาดการณ์ไม่ได้ แต่เตรียมตัวได้

อาจารย์สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า ปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าว่าแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นเมื่อใดและที่ไหนได้อย่างแม่นยำ การแจ้งเตือนที่ระบุวันและเวลาล่วงหน้าจึงถือเป็น "เฟคนิวส์" อย่างไรก็ตาม การเกิด อาฟเตอร์ช็อก ซึ่งเป็นแรงสั่นสะเทือนตามหลังแผ่นดินไหวใหญ่ จะลดความรุนแรงลงเรื่อย ๆ และไม่สามารถระบุจำนวนครั้งที่แน่ชัดได้

ควรมีการฝึกซ้อมอพยพเป็นระยะเพื่อให้ประชาชนสามารถรับมือได้อย่างเป็นระบบเมื่อเกิดเหตุการณ์จริง  ผู้ประกอบการต้องวางมาตรการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคหลังเกิดภัยพิบัติ


ตึกถล่ม: ผลจากแผ่นดินไหว หรือปัญหาก่อสร้าง?

นายฉัตรพันธ์ จินตนาภักดี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงมาตรฐานอาคารว่า อาคารสูงที่สร้างหลังปี 2550 ได้รับการออกแบบให้รองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบมาตรฐานโครงสร้างอาคารต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัดขึ้น โดยเฉพาะอาคารที่สร้างก่อนปี 2550

สำหรับการซ่อมแซมอาคารที่เสียหายจากแผ่นดินไหว ต้องเป็นไปตามหลักวิศวกรรม ห้ามใช้วิธีพอกเสริมโครงสร้างอย่างไม่ถูกต้อง เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อไปในอนาคต

นางอังคณาวดี ปิ่นแก้ว อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ให้ความเห็นว่า การพิจารณาความเสียหายจากแผ่นดินไหวในอาคารที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างต้องพิจารณา สัญญาว่าจ้าง ว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบ และต้องรอผลการตรวจสอบว่าเกิดจากแผ่นดินไหว หรือจากความบกพร่องในการก่อสร้าง

การชดเชยความเสียหายต้องพิจารณาจาก กรมธรรม์ประกันภัย ว่าครอบคลุมเหตุแผ่นดินไหวหรือไม่ ทั้งนี้ ผู้บริโภคควรให้ความสำคัญกับการเลือกซื้ออาคารที่มีมาตรฐานและการทำประกันภัยเพื่อกระจายความเสี่ยง

แผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นบทเรียนสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการเตรียมพร้อมทั้งด้าน โครงสร้างพื้นฐาน กฎหมาย และการรับรู้ของประชาชน ดังนั้น ทุกภาคส่วนควร เร่งยกระดับมาตรฐานอาคาร พัฒนาระบบแจ้งเตือนภัย และจัดฝึกซ้อมอพยพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ประเทศไทยพร้อมรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง