รีเซต

หมอเตือน ประชาชน ชายฝั่ง ทะเลสาบสงขลา ระวังไข้ดิน ชี้ไข้สูงต่อเนื่อง พบแพทย์ทันที

หมอเตือน ประชาชน ชายฝั่ง ทะเลสาบสงขลา ระวังไข้ดิน ชี้ไข้สูงต่อเนื่อง พบแพทย์ทันที
มติชน
20 ตุลาคม 2565 ( 10:13 )
41

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคมนี้ นพ.อิฏฐผล เอี้ยววงษ์เจริญ นายแพทย์ชำนาญการ กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า โรคเมลิออยโดสิส ( Melioidosis ) หรือ โรคเมลิออยด์ หรือโรคไข้ดิน ซึ่งพบได้ในดินและน้ำ พบได้ทุกภาคของประเทศไทย เชื้อโรคชนิดนี้ติดต่อสู่คนโดยการสัมผัสเชื้อในดินหรือน้ำ โดยเฉพาะการสัมผัสกับเชื้อบริเวณผิวหนังที่มีแผลเปิดนั้นเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อสูงรวมทั้งการดื่มน้ำและรับประทานอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน และอาจจะได้รับเชื้อผ่านทางการหายใจ จากการสูดหายใจเอาฝุ่นผงดินที่มีเชื้อเข้าไป ส่วนการแพร่กระจายระหว่างมนุษย์กับมนุษย์นั้นมีการรายงานว่าพบได้น้อย

 

สำหรับสถานการณ์โรคเมลิออยด์ ของจังหวัดสงขลา ตั้งแต่ 1 ม.ค. – 18 ต.ค. 2565 ได้รับรายงานผู้ป่วยฯ จำนวน 24 ราย เสียชีวิต 7 ราย พบผู้ป่วยในทุกกลุ่มวัย แต่ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานและกลุ่มอายุ 65 ปี ขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาชีพรับจ้าง งานบ้าน และเกษตรกร พบจำนวนผู้ป่วยมากที่สุดในพื้นที่อำเภอเทพา (7 ราย ) รองลงมาคืออำเภอเมืองสงขลา (5 ราย ) และสิงหนคร (4 ราย) และพบผู้ป่วยกระจายในพื้นที่ทุกอำเภอ

 

ทั้งนี้ในปี 2565 พบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยยังไม่มีปัจจัยบ่งชี้ แต่ประเมินว่าอาจจะมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการประกอบอาชีพ การใช้ชีวิต โดยเฉพาะในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยโรคนี้ ซึ่งเชื้อโรคไข้ดินนั้น เมื่อมีอยู่ในพื้นที่ใดก็จะอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ สำหรับจังหวัดสงขลานั้นพบผู้ป่วยในพื้นที่ติดทะเล ทั้งทะเลสาบสงขลา หรือคาบสมุทรสทิงพระ ได้แก่ ระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระและสิงหนคร รวมถึง พื้นที่ติดอ่าวไทย ได้แก่ เทพา เมือง จะนะ นาทวี โดยในพื้นที่อำเภอเทพา ซึ่งพบผู้ป่วย 7 ราย เสียชีวิต 5 รายนั้น จากการสอบสวนโรคนั้นพบว่า พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงของการดำนา ดังนั้นแนวทางในการป้องกัน ก็ควรจะป้องกัน สวมใส่ถุงมือ เมื่อต้องสัมผัสดิน และสวมใส่รอบเท้าบู๊ทยาว เมื่อสัมผัสน้ำ รวมถึง การสวมหน้ากากอนามัย เมื่อมีลมพัดแรง เนื่องจากลมอาจจะพัดเชื้อโรคนี้เข้าสู่ร่างกายได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง