มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท สืบสานภูมิปัญญา ‘นาริมเล’ ต่อยอดมรดกทางวัฒนธรรม
เมื่อเร็วๆนี้ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ผนึกกำลังภาคีเครือข่ายภาครัฐและชุมชน จัดกิจกรรม "ข้าวใหม่ ปลามัน" ครั้งที่ 2 ณ นาริมเล โรงเรียนบ้านปากประ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง เพื่อสืบสานและอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทำนาริมเล ควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา นำโดย นายธราวุธ ช่วยเกิด ปลัดจังหวัดพัทลุง เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยนายอานนท์ ขำแก้ว ผู้ชำนาญการแผนงานดำเนินการยุทธศาสตร์ทะเลสาบสงขลา มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท หน่วยงานภาครัฐ ผู้นำชุมชน และชาวบ้าน เข้าร่วมกว่า 250 คน
นายธราวุธ ช่วยเกิด ปลัดจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า กิจกรรม "ข้าวใหม่ ปลามัน" เป็นโอกาสสำคัญในการอนุรักษ์และฟื้นฟูภูมิปัญญาการทำนาริมเล พร้อมปลูกฝังให้เยาวชนร่วมอนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอดภูมิปัญญานี้ให้คงอยู่ต่อไป พร้อมส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่สู่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน
ขณะที่ นายอานนท์ ขำแก้ว ผู้ชำนาญการแผนงานดำเนินการยุทธศาสตร์ทะเลสาบสงขลา มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท กล่าวว่า มูลนิธิฯ มุ่งขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืนของทะเลสาบสงขลาโดยมีเป้าหมาย มุ่งพัฒนา 4 ด้าน คือ ด้านพัฒนาเด็กและเยาวชน ด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านพัฒนาชุมชนและเกษตรกร และด้านปกป้องและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมาได้มีการบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อปกป้องและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่รอบลุ่มน้ำฯ สนับสนุนการสร้างบ้านปลาในเขตอนุรักษ์กว่า 500 หลัง สร้างสมดุลให้กับทรัพยากรด้านการประมง ร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำอย่างมีประสิทธิภาพแล้วกว่า 17 ล้านตัว ร่วมจัดทำหลักสูตร Thai Lagoon เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ตระหนักถึงความสำคัญของทะเลสาบสงขลา นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทำนาริมเลปากประ จ.พัทลุง เสริมสร้างพัฒนาอาชีพและรายได้ให้กับคนในชุมชนอย่างยั่งยืนอีกด้วย
ด้านนายสายันต์ รักดํา ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทำนาริมเลปากประ กล่าวว่า การจัดตั้งกลุ่มฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการทำนา ปลูกข้าว เพื่อความมั่นคงทางอาหาร และสร้างรายได้เสริมให้แก่เกษตรกร พร้อมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีชีวิต "นาริมเล" อันเป็นมรดกทางด้านภูมิปัญญาและวัฒนธรรมหนึ่งเดียวในประเทศไทย ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานกว่า 200 ปี เกิดเป็นการสร้างอาชีพและกระจายรายได้สู่ชุมชน
ทั้งนี้ภายในงานยังมีพิธีลงนามประกาศเจตนารมณ์เพื่อความยั่งยืนของ "นาริมเล" เพื่อพัฒนาพื้นที่มรดกทางการเกษตร "นาริมเลปากประ" สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 และโมเดลเศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว) โดยมีภาคีเครือข่ายที่ร่วมลงนามทั้งสิ้น 11 หน่วยงาน ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง สำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพัทลุง สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพัทลุง สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดพัทลุง ประมงจังหวัดพัทลุง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง มหาวิทยาลัยทักษิณ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเสริมสร้างการเรียนรู้ เสวนา "การขับเคลื่อนมรดกการเกษตรนาริมเลเพื่อความมั่นคงและยั่งยืน" พิธีทำขวัญข้าว การเก็บเกี่ยวข้าวนาริมเล และการแข่งขันเป่าปี่ซังข้าว โดยบรรยากาศภายในงานอบอวลไปด้วยรอยยิ้มและความอบอุ่น ทั้งนี้เชื่อว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของทรัพยากรทางทะเลและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน และชุมชนอย่างยั่งยืน
มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ยังคงมุ่งมั่นในการสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่ออนุรักษ์ทะเลสาบสงขลาให้คงอยู่คู่กับคนไทย พร้อมกับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ควบคู่ไปกับการพัฒนาประเทศ เศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน