ซีพีพัฒนา-อมก๋อยโมเดล: คืนกวางผาสู่ไพร อนุรักษ์สัตว์ป่าสงวนไทย

เมื่อเร็วๆนี้ – มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท (ซีพี) ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศและสัตว์ป่า ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น และชุมชน จัดกิจกรรมปล่อย "กวางผา" คืนสู่ธรรมชาติ ภายใต้โครงการ “ซีพีพัฒนา-อมก๋อยโมเดล” จ.เชียงใหม่ สร้างอมก๋อยน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ จำนวน 5 ตัว เพื่อคืนสมดุลให้กับระบบนิเวศป่าอมก๋อยต้นน้ำสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนางสาวสมหญิง ทัฬหิกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่ากรมอุทยานฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้เกียรติเป็นประธาน พร้อมด้วย นายกฤตยรัฐ ปารมี ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท นายปรีชาพล พูลทวี นายอำเภออมก๋อย นายกฤตภาส ขันทะธงสกุลดี ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ นายภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร นายครินทร์ หิรัญไกรลาส หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อยและหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย และหน่วยงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่อำเภออมก๋อย อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบลม่อนจอง องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ตื่น ชุมชนบ้านห้วยไม้หก ณ บ้านห้วยไม้หก ต.ม่อนจอง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่
นางสาวสมหญิง ทัฬหิกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่ากรมอุทยานฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า อำเภออมก๋อย ถือเป็นพื้นที่ที่มีป่าขนาดใหญ่ที่สำคัญของ จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้ยังมีสัตว์ป่าหลากหลายชนิด รวมถึง “กวางผา” ซึ่งถือเป็นสัตว์ประจำถิ่น และเป็นสัตว์ป่าสงวนที่ใกล้สูญพันธุ์ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ ได้ดำเนินงานร่วมกับภาคเอกชนอย่าง มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ในการร่วมแก้ปัญหา “กวางผา” ที่ใกล้สูญพันธุ์ จึงเป็นภารกิจที่สำคัญมาก โดยถือเป็นกิจกรรม “การอนุรักษ์สัตว์ป่าอย่างมีส่วนร่วม” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า รวมทั้งสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและกลุ่มเยาวชนในการอนุรักษ์ปกป้องและรักษาทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าให้อยู่คู่กับ อ.อมก๋อย โดยมีสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อยเป็นหน่วยงานสำคัญทำหน้าที่ในการรวบรวมสายพันธุ์กวางผาในจุดต่าง ๆ นำมาเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ และปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ มีการตรวจสอบ DNA กวางผาที่อยู่ในธรรมชาติและศูนย์เพาะเลี้ยงด้วย เพื่อเติมความหลากหลายของสายพันธุกรรมของประชากรกวางผาให้มีความแข็งแรงมากขึ้นในแต่ละพื้นที่ เพื่อป้องกันการผสมพันธุ์เกิดสภาวะเลือดชิด (Inbreeding) และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากวางผาที่ปล่อยคืนกลับสู่ธรรมชาตินั้นจะสามารถปรับตัวอยู่ในธรรมชาติและอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างสมดุลและยั่งยืน กิจกรรมในครั้งนี้ จะสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า รวมทั้งสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและกลุ่มเยาวชนในการอนุรักษ์ปกป้องและรักษาทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าให้อยู่อย่างสมดุลและยั่งยืน
นายภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย ถือเป็นหน่วยงานหลักของประเทศไทย ที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ "กวางผา" และดูแลเรื่องพันธุกรรมของกวางผาทั้งในกรงเลี้ยงและในธรรมชาติ โดยกวางผาที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติทั้ง 5 ตัวนี้ เพาะเลี้ยงและดำเนินการปรับสภาพก่อนปล่อยไม่น้อยกว่า 6 เดือน โดยทีมงานสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย และจะมีการติดตามหลังการปล่อยด้วยเช่นกัน ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีการปล่อยคืนกวางผาสู่ธรรมชาติในพื้นที่อนุรักษ์ทางภาคเหนือของไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อฟื้นฟูประชากรกวางผาในธรรมชาติ และเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมกวางผาในพื้นที่มาโดยตลอด ทั้งหมดนี้ได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท มูลนิธิสืบฯ ขอขอบคุณมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และพี่น้องชาวอมก๋อย ที่ช่วยกันดูแล ปกป้อง สัตว์ป่าสงวนที่สำคัญของชาวไทยชนิดนี้เอาไว้อย่างดี และขอทิ้งท้ายฝากถึงพี่น้องคนอมก๋อยว่าท่านมีของดีอยู่กับตัว
นายกฤตยรัฐ ปารมี ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เปิดเผยว่า กิจกรรมปล่อย "กวางผา" คืนสู่ธรรมชาติ ในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในแผนงานของโครงการ “ซีพีพัฒนา-อมก๋อยโมเดล“ จ.เชียงใหม่ สร้างอมก๋อยน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ ที่มูลนิธิฯ มุ่งมั่นปกป้องและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่เป็นป่าต้นน้ำสำคัญในภาคเหนือ ส่งเสริมการปกป้องรักษาป่า รวมถึงสัตว์ป่า โดย ต.ม่อนจอง และ ต.แม่ตื่น มีกวางผาอาศัยอยู่ ซึ่งเป็นสัตว์อนุรักษ์ที่มีความสำคัญ และมีจำนวนลดน้อยลงเรื่อย ๆ จึงนำมาสู่แผนงานและโครงการการอนุรักษ์กวางผาร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย รวมทั้งประชาชน และกลุ่มเยาวชน โดยที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ร่วมสนับสนุนการเพาะพันธุ์กวางผา และปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติแล้ว 18 ตัว ด้วยการสนับสนุนตั้งแต่ทำการวิจัย เพาะเลี้ยง และขยายพันธุ์ จนกระทั่งปล่อยกลับคืนสู่ป่าที่มีประสิทธิภาพในจุดที่เหมาะสม เพื่อขยายพันธุ์เองตามธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังติดตามการอยู่อาศัยของสัตว์ป่าและการอยู่รอดในธรรมชาติของกวางผาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อยต่อไป ปัจจุบันมี “กวางผา” ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย จำนวนทั้งสิ้น 78 ตัว และสัตว์ป่าประเภทเลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 202 ตัว ที่ได้รับการสนับสนุนการอนุบาลเลี้ยงดูจากมูลนิธิฯ
ขณะเดียวกัน โครงการ “ซีพีพัฒนา-อมก๋อยโมเดล” จ.เชียงใหม่ ไม่เป็นเพียงโครงการที่ขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ยังมีแผนงานสร้างอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืนให้กับชุมชนในพื้นที่ไปพร้อมกันด้วยแนวคิดที่ว่า "คนกับระบบนิเวศสามารถอยู่ร่วมกันได้ผ่านการบริหารจัดการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างเหมาะสมและยั่งยืน" โครงการฯ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายหลักในการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ และส่งเสริมการประกอบอาชีพที่มั่นคงให้กับชาวบ้านในพื้นที่ การปล่อยกวางผาในครั้งนี้ จึงไม่เพียงเป็นการเพิ่มประชากรสัตว์ป่าที่สำคัญ แต่ยังเป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ที่ต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนอย่างแท้จริง โดยมูลนิธิฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับชุมชนและเยาวชนในพื้นที่ เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติให้ "อมก๋อย" เป็นพื้นที่น่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นต้นแบบของการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป