รีเซต

Food Literacy คืออะไร? สำคัญอย่างไรต่อสุขภาพ?

Food Literacy คืออะไร? สำคัญอย่างไรต่อสุขภาพ?
TNN ช่อง16
18 พฤศจิกายน 2567 ( 12:20 )
4
Food Literacy คืออะไร? สำคัญอย่างไรต่อสุขภาพ?


แม้ ความรอบรู้ด้านอาหาร หรือ Food Literacy ไม่ได้มีนิยามตายตัวที่ยอมรับในวงกว้าง แต่ก็รับรู้ว่า เป็นการใช้ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการ ให้เกิดความตระหนักและเลือกบริโภคอาหารที่ดี นำไปสู่การจัดการสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน อย่างที่ จ.พัทลุง ที่ผลักดันส่งเสริมให้กระจายสู่วงกว้างจนเกิด ห่วงโซ่อาหารปลอดภัยอ่อนหวาน ให้เกิดขึ้นทั้งระบบ  


เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานพัทลุง ด้วยการสนับสนุนของ แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. ขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพผ่านอาหารที่ดีต่อสุขภาวะเพื่อลดภาวะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ผ่านการส่งเสริมความรอบรู้ด้านอาหารไปสู่ความตระหนักในที่สุด  


รูปธรรมที่ชัดเจนของการขับเคลื่อนที่ จ.พัทลุงก็คือ ความร่วมมือบูรณาการจากหลายหน่วยงานในพื้นที่ จนเกิดโรงพยาบาลอ่อนหวาน อาหารปลอดภัย มีร้านกาแฟหวานน้อยเพื่อเป็นทางเลือกของคนพัทลุง รวมทั้ง กิจกรรมสนับสนุนการเรียนรู้ ต้นแบบการบูรณาการห่วงโซ่อาหารเพื่อสุขภาวะ สร้างตลาดสร้างสุขในโรงเรียน ในโรงพยาบาล กระตุ้นให้บริโภคผักมากขึ้น ลดอาหาร หวานมันเค็ม เรียกว่า เป็นจังหวัดที่สามารถดำเนินงานได้ครอบคลุมทั้งพื้นที่



ทพญ.ชนิฎาภรณ์ สอนสังข์  ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ สสจ.พัทลุง เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน จ.พัทลุง เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นมาจากงานเครือข่ายอ่อนหวาน อาหารปลอดภัย ทำงานเชิงรุกเรื่องร้านกาแฟหวานน้อย เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกเพื่อสุขภาพลดความหวานในเครื่องดื่ม โดยมีร้านกาแฟเข้าร่วมโครงการ 16 ร้าน ภายใต้ตัวชี้วัดสำคัญที่กำหนดจากทาง สสส. ได้แก่  ต้องมีเมนูอ่อนหวาน , ต้องทำประชาสัมพันธ์ร้าน และในร้านต้องมีสุขอนามัยที่ดี


ในปี 2566 ได้ขับเคลื่อนนโยบายการบริโภคน้ำตาลเหมาะสม และส่งเสริมการบริโภคเพื่อสุขภาวะ จึงประสานกับหัวหน้าฝ่ายคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อขอให้งานนี้เข้าสู่วาระอาหารปลอดภัยของจังหวัด ก่อนจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันทั้งจังหวัด โดยมีภาคีเครือข่ายจากหลายหน่วยงาน ทั้งส่วนราชการ และภาคเอกชนเข้าร่วม อาทิ เกษตรจังหวัด ศูนย์วิจัยข้าว กลุ่มเกษตรกร ภาคอุตสาหกรรม ภาคีแหล่งผลิตอาหาร และบริษัท เบทาโกร เป็นต้น  


นอกจากการทำงานภาพใหญ่ของจังหวัด ทพญ.ชนิฎาภรณ์ ยังได้ขับเคลื่อนการทำงานภายในโรงพยาบาลผ่านโครงการ “โรงพยาบาลอาหารปลอดภัย พลัสอ่อนหวาน” มีโรงพยาบาลเข้าร่วมทั้งสิ้น  11 แห่ง 

“เรามีกำหนดเกณฑ์ชี้วัด 3 ข้อ คือ ร้านค้าสหกรณ์ในโรงพยาบาลต้องไม่ขายน้ำอัดลม, โรงพยาบาลต้องจัดเมนูอาหารอ่อนหวาน และ เครื่องดื่มหวานน้อยให้แก่ผู้ป่วยไม่น้อยกว่า 5 เมนู และใช้ Healthy Break หรืออาหารว่างลดแคลอรี่ในการจัดประชุม, และต้องประชาสัมพันธ์รณรงค์และชูนวัตกรรมในชุมชน หลังจากเราให้ข้อมูลไปแล้ว ปรากฏว่ามีเครือข่าย รพ. ถึง 11 แห่ง ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก”  



จากโรงพยาบาล แนวคิดนี้ก็ถูกส่งต่อไปยัง ร้านกาแฟที่อยู่รอบๆ ทำให้เกิด ร้านกาแฟอ่อนหวานในแต่ละพื้นที่เพิ่มขึ้น ก่อนที่จะขยายประเด็นอาหารปลอดภัยไปยังโรงเรียนโดยทำงานเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย เพื่อผลักดันให้ จ.พัทลุง เป็นพื้นที่ที่มีอาหารอ่อนหวานและอาหารปลอดภัย เพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคได้เต็มพื้นที่มากยิ่งขึ้น 

    

“การทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย ทำให้สามารถขยายการทำงานได้เพิ่มขึ้น นอกจากจะเป็นทันตบุคลากรแล้ว ยังมีนักโภชนาการเข้าร่วมงานด้วย จึงได้ทำเรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs เข้ามาทำร่วมด้วย จึงเกิดการทำงานครบในเรื่องของการลดหวาน มัน เค็ม โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่ชุมชน 


“แต่ก่อนจะลงชุมชนต้องเริ่มจากเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลก่อน จึงได้เกิด “ตลาดสร้างสุข” ในโรงพยาบาลและเตรียมขยายไปตลาดใต้โหนด ซึ่งเป็นเครือข่าย และเป็นตลาดใหญ่ที่มีนักท่องเที่ยวมาจำนวนมาก  รวมไปถึงการทำงานกับเอกชน อย่าง เบทาโกร ที่เขาสนับสนุนให้พนักงานบริโภคอาหารปลอดภัย ส่งเสริมให้พนักงานปลูกผักปลอดสารพิษ ทำปุ๋ยหมัก เป็นต้น” ทพญ.ชนิฎาภรณ์ อธิบายเพิ่มเติม  



ด้าน ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. เปิดเผยว่า นโยบายการดำเนินงานเครือข่ายอ่อนหวาน ในจังหวัดพัทลุง มีภาพสำคัญคือ การสร้างความรอบรู้ทางด้านอาหาร หรือ Food Literacy ที่จะทำให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการบริโภคอาหารที่จะมีผลต่อสุขภาพ รวมทั้งการทำงานเป็นเครือข่าย ก็ช่วยให้กลไกดำเนินงานมีพลังเข้มแข็งขึ้น สร้างกิจกรรมใหม่ๆ ทำให้เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรม


“โดยเฉพาะการทำงานกับทีมนักโภชนาการที่มีอยู่ในโรงพยาบาลต่าง ๆ ซึ่งเป็นผู้ที่สนใจงานด้านนี้ และมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับของอาหารปลอดภัยในมิติต่าง ๆ ได้อย่างดีอยู่แล้ว การขยายผลจากโรงพยาบาล สู่ชุมชน จึงสามารถขับเคลื่อนการทำงานในพื้นที่ได้เอง เป็นการส่งต่อพลังการทำงานได้อย่างดี” ทพญ.ปิยะดา กล่าว


สำหรับ ความรอบรู้ทางด้านอาหาร หรือ Food Literacy นั้น แนวคิดนี้มีการพูดถึงกันมาตั้งแต่ปี 2537 แล้ว โดยสาระสำคัญ คือการเน้นที่ความสามารถในการบริโภคเพื่อให้สุขภาพดี ตั้งแต่ การเลือกซื้ออาหาร การเตรียมอาหาร และการบริโภคอาหาร เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ 


ในประเทศไทยเอง ไม่ได้มีนิยามเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างชัดเจน แต่ก็มักเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง และยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน 


เหมือนอย่างที่ จ.พัทลุง ได้มีการขับเคลื่อนวาระอาหารสุขภาวะ โดยการใช้หลักความตระหนักรู้มาสร้างการทำงานแบบเครือข่ายจนเกิดเป็นห่วงโซ่อาหารปลอดภัยอ่อนหวานทั้งระบบในที่สุด 



ภาพ สสจ.พัทลุง  


ข่าวที่เกี่ยวข้อง