รีเซต

โควิด-19 : ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทั่วโลกใกล้ 7 ล้านราย ท่ามกลางความกังวลว่าการประท้วงเหยียดเชื้อชาติ

โควิด-19 : ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทั่วโลกใกล้ 7 ล้านราย ท่ามกลางความกังวลว่าการประท้วงเหยียดเชื้อชาติ
บีบีซี ไทย
7 มิถุนายน 2563 ( 23:44 )
98

Getty Images
การประท้วงต่อเนื่องเป็นวันที่ 12 ที่กรุงวอชิงตันดีซี

ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ระบุว่า ขณะนี้ผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ทั่วโลกมีอย่างน้อย 400,290 รายแล้ว ท่ามกลางความกังวลว่าการประท้วงการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ ชายอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ที่ขยายวงกว้างไปหลายประเทศจะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่กว่าเดิม

 

ในขณะที่สหรัฐฯ ยังเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดที่ 1.92 ล้านคน และผู้เสียชีวิตสูงสุดที่ 1.09 แสนคน การประท้วงกรณีการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ ชายอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน จากการใช้ความรุนแรงของตำรวจ ยังดำเนินต่อเนื่อง และขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ไปหลายเมืองใหญ่ทั่วสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นที่กรุงวอชิงตันดีซี นิวยอร์ก ชิคาโก ฟิลาเดลเฟีย ลอสแอนเจลิส เป็นต้น

 

ที่สหราชอาณาจักร ทางการก็เตือนเช่นกันว่าการชุมนุมประท้วงยิ่งเพิ่มความเสี่ยงไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาด แต่ก็ยังมีการประท้วงในกรุงลอนดอน แมนเชสเตอร์ คาร์ดิฟฟ์ เลสเตอร์ และเชฟฟิลด์ โดยมีป้ายประท้วงหลายชิ้นที่แสดงความเชื่อมโยงเรื่องการเหยียดเชื้อชาติและการระบาดใหญ่ อาทิ "มีไวรัสที่อันตรายกว่าโควิด-19 มันมีชื่อว่าการเหยียดเชื้อชาติ"

 

นายแมตต์ แฮนค็อก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสหราชอาณาจักร ระบุในรายการช่องสกายนิวส์ว่า เขาสนับสนุนความคิดเรียกร้องความเท่าเทียมของผู้ประท้วง แต่ "การรวมตัวเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ เป็นการฝ่าฝืนกฎชั่วคราวตอนนี้ เพราะว่าจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้ไวรัสแพร่ระบาด"

 

"ได้โปรดอย่างรวมตัวกันเป็นกลุ่มมากกว่า 6 คน เพราะว่าเรามีการระบาดใหญ่ที่ต้องควบคุม"

 

ในเวลาต่อมา นายแฮนค็อก บอกว่า หากมีอัตราการติดเชื้อสูงขึ้นในอนาคต อาจมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์แบบเจาะจงเฉพาะพื้นที่

 

ศาสตราจารย์จอห์น เอ็ดมันด์ส จากกลุ่มที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์เพื่อสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาล (Scientific Advisory Group for Emergencies) บอกว่า ประชาชนไม่ควรนิ่งนอนใจ และประเมินว่ามีคนราว 5 พันคนติดเชื้อโควิด-19 ใหม่ทุกวัน

 

อย่างไรก็ดี ยอดผู้เสียชีวิตรายวันล่าสุดในสหราชอาณาจักรอยู่ที่ 77 ราย ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดตั้งแต่เริ่มมาตรการล็อกดาวน์วันที่ 23 มี.ค.

 

Reuters
คนหลายพันรวมตัวประท้วงในกรุงลอนดอนแม้ว่าทางการว่าการชุมนุมประท้วงยิ่งเพิ่มความเสี่ยงไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาด

ประเทศในยุโรปอย่างฝรั่งเศส เยอรมนี และสเปน ก็มีการชุมนุมประท้วงเช่นกัน พร้อม ๆ กับการคล้ายมาตรการล็อกดาวน์ ที่กรุงปารีส ร้านอาหาร บาร์ และร้านกาแฟ กลับมาเปิดอีกครั้งพร้อมกับ "ชีวิตวิถีใหม่" ซึ่งมีทั้งกฎให้คนนั่งห่างกัน มีกระบวนการทำความสะอาดเพิ่ม และมีเจลล้างมือให้ลูกค้า

EPA
ร้านอาหารในกรุงปารีสปรับตัวรับชีวิตวิถีใหม่

ที่เยอรมนี ซึ่งมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 8,685 ราย ทางการบอกว่ากังวลที่มีคนออกมาชุมนุมประท้วงจำนวนมาก เจนส์ สปาห์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเยอรมนี บอกว่า "การต่อสู้การเหยียดเชื้อชาติต้องการการมุ่งมั่นร่วมกันของพวกเรา แต่การรวมกลุ่มของคนขณะมีการระบาดใหญ่ทำให้ผมรู้สึกกังวล"

 

ที่รัสเซีย ซึ่งมียอดผู้ติดเชื้อกว่า 4.67 แสนราย ยอดผู้เสียชีวิตยังสูงขึ้นเรื่อย ๆ เป็นอย่างน้อย 5,851 รายแล้ว รัสเซียก็เหมือนกับประเทศอื่น ๆ ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ส่งผลให้คะแนนนิยมในตัวประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

 

ศูนย์กลางการแพร่ระบาดแห่งใหม่ของโลก

อย่างไรก็ดี เป็นภูมิภาคลาตินอเมริกันที่กำลังเผชิญวิกฤตหนักที่สุด โดยก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยภาคพื้นอเมริกา (Pan American Health Organization หรือ PAHO) บอกว่า ภูมิภาคนี้เป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดแห่งใหม่ของโลกแล้ว

 

Reuters
บราซิลลบข้อมูลผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตโดยรวมออกจากเว็บไซต์ทางการ โดยบอกว่าต่อไปนี้จะรายงานเฉพาะยอดในรอบ 24 ชั่วโมงเท่านั้น

บราซิล ซึ่งมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 6.7 แสนคน เป็นอันดับสองของโลก ลบข้อมูลผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตโดยรวมออกจากเว็บไซต์ทางการ โดยกระทรวงสาธารณสุขบอกว่าต่อไปนี้จะรายงานเฉพาะยอดในรอบ 24 ชั่วโมงเท่านั้น

 

ประธานาธิบดีชาอีร์ โบลโซนาโร ของบราซิลบอกว่า ข้อมูลโดยรวมไม่ได้สะท้อนภาพปัญหาในปัจจุบัน

ผู้นำบราซิลคนนี้โดนวิพากษ์วิจารณ์หลายครั้งในการรับมือกับวิกฤตในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการบอกว่าโรคโควิด-19 ไม่ใช่ปัญหาร้ายแรง ต่อต้านการใช้มาตรการล็อกดาวน์ และการไปร่วมการชุมนุมโดยไม่ใส่หน้ากากอนามัย

 

ก่อนหน้านี้ งานวิจัยโดยมหาวิทยาลัยเซาเปาโล ประเมินว่า บราซิลอาจมีผู้ติดเชื้อจริง ๆ มากกว่าตัวเลขทางการถึง 15 เท่า ส่วนงานวิจัยโดยมหาวิทยาลัยวอชิงตันระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตในบราซิลอาจสูงถึง 1.25 แสนราย ภายในต้นเดือน ส.ค. ซึ่งจะเพิ่มเป็นสี่เท่าจากยอดที่กำลังสูงขึ้นขณะนี้

 

ยากจนรุนแรง

ย้อนไปเมื่อเดือน พ.ค. ธนาคารโลกออกมาเตือนว่าวิกฤตโควิด-19 อาจทำให้คนกว่า 60 ล้านคนต้องอยู่ในสภาพความยากจนอย่างรุนแรง หรือมีเงินน้อยกว่า 1.55 ปอนด์ หรือราว 61 บาท ต่อวัน

 

ล่าสุด เดวิด มัลพาสส์ ประธานธนาคารโลก บอกว่า ตอนนี้คนจนอาจจะมีเงินใช้น้อยกว่า 1 ปอนด์ หรือน้อยกว่า 40 บาทต่อวันแล้ว โดยเขาบอกว่าวิกฤตโควิด-19 จะส่งผลทั้งโดยตรงคือคนไม่มีรายได้ และผลที่ตามมาคือด้านสังคมและสุขภาพ

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง