รีเซต

นักวิชาการไขปริศนา 'นางอัปสรดีดผีผา' แห่งตุนหวง เดิมทีอาจเป็นภาพบุรุษ

นักวิชาการไขปริศนา 'นางอัปสรดีดผีผา' แห่งตุนหวง เดิมทีอาจเป็นภาพบุรุษ
Xinhua
26 กันยายน 2564 ( 19:39 )
163

 

ปักกิ่ง, 26 ก.ย. (ซินหัว) -- หากเอ่ยถึงจิตรกรรมฝาผนังในถ้ำหินเมืองตุนหวง หลายคนอาจจะนึกถึงภาพนางอัปสร "ดีดผีผาจากด้านหลัง" ทว่าศิลปะข้างต้นนี้มีที่มาที่ไปอย่างไรและมีวิวัฒนาการเช่นไรนั้นกลับไม่ค่อยมีใครล่วงรู้

 

 

ในงานการประชุมตุนหวง ซึ่งจัดขึ้นในเมืองตุนหวง มณฑลกานซู่ตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ระหว่างวันที่ 24-26 ก.ย. ศาสตราจารย์เก๋อเฉิงยง จากสถาบันมรดกทางวัฒนธรรมจีน (Chinese Academy of Cultural Heritage) ได้อธิบายที่มาของภาพวาดดังกล่าวจากผลการวิจัยของตนว่าเขาคิดว่าเดิมทีภาพนางอัปสรดีดผีผานั้นอาจเคยเป็นภาพของบุรุษเพศมาก่อน

 

 

เก๋อกล่าวว่าช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้เพิ่มการสนับสนุนการศึกษาวิจัยใน "สาขาที่ไม่เป็นที่นิยม" เช่น อักษรโบราณบนกระดูกสัตว์  ข้อความจารึกบนแผ่นไม้ และเอกสารโบราณที่พบในวัฒนธรรมตุนหวง เป็นต้น ทำให้เกิดแรงกระตุ้นใหม่ๆ ในงานวิจัยขนาดเล็กเหล่านี้

 

 

 

การผสานมุมมองแบบจีนและวิสัยทัศน์ระดับสากลเพื่อหาคำตอบให้กับงานวิจัย เป็นสิ่งที่เก๋อและคณะวิจัยให้ความสำคัญ โดยทีมวิจัยของเขาประกอบด้วยนักวิชาการจากสถาบันในจีนและต่างประเทศจำนวนมาก

 

 

พวกเขาทำการศึกษาเปรียบเทียบศิลปะของตุนหวงกับศิลปะของหลายๆ อารยธรรม เช่น กรีก ซอคเดีย (Sogdia) เปอร์เซีย และอินเดีย เพื่อเรียนรู้และแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างกัน

 

 

การตามรอยที่มาของภาพดังกล่าวเป็นหนึ่งในผลงานวิจัยของเก๋อและคณะ เหล่านักวิจัยได้ศึกษาและเปรียบเทียบภาพแกะสลักของจักรพรรดินีเจินชุ่น (หนึ่งในพระสนมของจักรพรรดิถังเสวียนจง) ในสมัยราชวงศ์ถังกับจิตรกรรมฝาผนังตุนหวง และพบว่าภาพนางอัปสรดีดผีผาจากด้านหลังอาจมีต้นกำเนิดมาจากต่างแดน โดยตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังช่วงรุ่งเรืองหรือเซิ่งถัง (ปี 712-762) มาถึงช่วงราชวงศ์ถังตอนกลาง (ปี 762-827) ภาพนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เคยเป็นภาพชาวชนเผ่าทางตอนเหนือของจีนกลายมาเป็นภาพชาวฮั่น และเปลี่ยนแปลงจากภาพบุรุษมาสู่ภาพสตรี อันเป็นหลักฐานของการหลอมรวมทางวัฒนธรรมบนเส้นทางสายไหม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง