ผับบาร์ในกรุง ขอปรับเป็นร้านอาหารนั่งดริงก์ 413 แห่ง กทม.เร่งกำกับให้ได้ตามมาตรฐานเข้มโควิด
วันนี้ (16 ม.ค.64) เวลา 19.00 น. นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ไปตรวจเยี่ยมสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ ที่ปรับรูปแบบสถานที่เพื่อให้บริการในลักษณะร้านจำหน่ายอาหาร ณ ร้านโรงเหล้าแสงจันทร์ เขตวังทองหลาง และร้านมดแดง เขตบางกะปิ โดยมี นพ.ชวินทร์ ศิรินาค นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกทม. ผู้บริหารกทม. ผู้บริหารสำนักอนามัย ผู้บริหารเขตวังทองหลาง เขตบางกะปิ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมคณะ
นายขจิต เปิดเผยว่า ตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 49) ข้อ 2 อนุญาตให้สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข และผ่านการตรวจประเมินตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย ในระดับ SHA+ หรือตามมาตรฐานความสะอาดปลอดภัยป้องกันโรค COVID-19 รองรับสุขภาพดีวิถีใหม่ (Thai Stop Covid 2 Plus : TSC 2+) ที่มีความประสงค์จะปรับรูปแบบของสถานที่ดังกล่าวเพื่อการให้บริการในลักษณะที่เป็นร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้ขออนุญาตต่อสำนักงานเขตพื้นที่เพื่อตรวจสอบและประเมินความพร้อมของสถานที่ บุคลากร และการจัดการตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่กำหนด อาทิ จัดบริการเจลแอลกอฮอล์ประจำร้าน จัดพื้นที่รับประทานอาหาร โดยจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการไม่ให้แออัด และจัดที่นั่งไม่นั่งตรงข้ามกัน และปฏิบัติตามมาตรการของพื้นที่ มีมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และโต๊ะรับประทานอาหาร 1 – 2 เมตร สำหรับในพื้นที่มีเครื่องปรับอากาศเว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะรับประทานอาหาร 2 เมตร ในพื้นที่รับประทานอาหารที่มีพื้นที่จำกัด ระยะไม่ถึง 1 เมตร ให้ทำฉากกั้น โดยฉากกั้นต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการระบายอากาศ จำกัดระยะเวลาการนั่งรับประทานอาหาร ไม่เกิน 2 ชั่วโมง หรือปฏิบัติตามมาตรการของพื้นที่ ด้านพนักงานทุกคนต้องฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่กำหนด ได้รับการคัดกรองความเสี่ยงด้วย Thai Save Thai (TST)หรือ แอฟพลิเคชันที่ทางราชการกำหนด ทุกวัน พนักงานทุกคนตรวจ ATK ทุก 7 วัน หรือตรวจ ATK เมื่อ TST แล้วมีความเสี่ยงสูง ไม่มีกิจกรรมที่มีการสัมผัสใกล้ชิด การรวมกลุ่มการเต้นรำ การตะโกนเสียงดัง เป็นต้น โดยต้องได้รับอนุญาตภายในวันที่ 15 ม.ค.65 ก่อนเปิดให้บริการได้ภายใต้การกำกับติดตามของพนักงานเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด และให้บริการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ในร้านได้ไม่เกินเวลา 21.00 น. ทั้งนี้ ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 51 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือมาตรา 52 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วแต่กรณี และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“สำหรับสถานบริการ สถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการที่เปลี่ยนแปลงเป็นร้านอาหารที่สามารถบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ม.ค.65) จากการสำรวจสถานบริการทั้งหมด 819 แห่ง ขออนุญาตเปลี่ยนแปลงเป็นร้านอาหาร 413 แห่ง มี SHA+ 198 แห่ง ไม่มี SHA+ 215 แห่ง ดำเนินการตามมาตรการ THAI STOP COVID 2Plus จำนวน 304 แห่ง ส่วนอีก 109 แห่ง อยู่ระหว่างแนะนำให้ทำการประเมิน” นายขจิต กล่าว
ทั้งนี้ ปลัด กทม. กล่าวว่า กทม. ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจ เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน เจ้าหน้าที่สำนักอนามัย บูรณาการความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหาร และผู้เกี่ยวข้อง ตรวจสถานประกอบการ ร้านอาหาร ตลาด สถานบริการการต่าง ๆ โดยเฉพาะ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด รวมทั้งเข้มงวดมาตรการกวดขันตรวจสอบสถานที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานโดยต้องมี SHA + หรือ TSC 2+ เท่านั้น พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักรู้และเน้นย้ำความร่วมมือของผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการ เช่น ร้านอาหารที่ปรับเปลี่ยนมาจาก ผับ บาร์ คาราโอเกะ ต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดและให้ปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมสถานที่ ด้านตัวบุคลากรผู้ให้บริการ รวมถึงผู้รับบริการ ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด รวมถึงให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention For Covid-19)