รีเซต

ประเทศไทยสงวนท่าที ท่ามกลางวิกฤตเมียนมา

ประเทศไทยสงวนท่าที ท่ามกลางวิกฤตเมียนมา
มติชน
24 พฤษภาคม 2564 ( 15:21 )
97
ประเทศไทยสงวนท่าที ท่ามกลางวิกฤตเมียนมา

 

ขณะที่เมียนมาอยู่ในทางแยกท่ามกลางความรุนแรงอย่างต่อเนื่องต่อผู้ที่ต่อต้านการปกครองของทหารหลังการรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อนบ้านอย่างไทยก็ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะความสัมพันธ์ทางทหารที่ใกล้ชิดกับเมียนมา ซึ่งดูเหมือนว่าทำให้ไทยตัดสินใจเลือกที่จะอยู่เงียบๆ ในขณะนี้

 

 

ประชาคมระหว่างประเทศหวังว่าไทยจะมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขวิกฤต โดยทูตพิเศษของสหประชาชาติขอร้องให้เพื่อนบ้านของเมียนมาใช้อิทธิพลเพื่อช่วยแก้ไขสถานการณ์ แต่ก็มีสัญญาณเพียงเล็กน้อยอย่างน้อยเท่านั้นที่ออกมาให้ได้เห็นในสาธารณะว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความกระตือรือร้นที่จะทำเช่นนั้น

 

 

แม้ว่าจะมีเสียงเรียกร้องในหมู่คนไทยที่ต้องการให้มีส่วนร่วมในการแก้ไขวิกฤตเมียนมามากขึ้น แต่ดูเหมือนประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็พร้อมที่จะให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทางทหารกับเมียนมาก่อนประเด็นอื่นๆ

 


ไทยและเมียนมามีพรมแดนติดกันราว 2,400 กิโลเมตร และมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการปราบปรามการค้ายาเสพติดไปจนถึงความร่วมมือเรื่องชนกลุ่มน้อยจากเมียนมาที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยของไทยมานานหลายทศวรรษ นอกจากนี้ยังมีแรงงานอพยพจากเมียนมาประมาณ 4 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย

 

 

ขณะที่การปะทะกันระหว่างทหารของเมียนมาและกลุ่มชนกลุ่มน้อยติดอาวุธรุนแรงขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม ชาวบ้านจำนวนมากได้ข้ามพรมแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งในจำนวนนั้นก็มีนักเคลื่อนไหวและนักข่าวบางคนที่หลบหนีเข้ามาด้วย

 


ในช่วงปลายเดือนเมษายน สมาชิกทั้ง 10 ประเทศของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งทั้งไทยและเมียนมาเป็นสมาชิก ได้จัดการประชุมสุดยอดผู้นำครั้งพิเศษเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์เมียนมา แต่พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เข้าร่วมในการชุมนุมที่เกิดขึ้นที่อินโดนีเซียดังกล่าว

 

 

ภายหลังการประชุมซึ่งพล.อ.มิน ออง ลาย ผู้นำรัฐประหารของเมียนมา เข้าร่วมด้วย ได้มีการออกแถลงการณ์ของประธานที่ระบุ “ฉันทามติ 5 ประเด็น” รวมถึงการส่งทูตพิเศษอาเซียนไปยังเมียนมาเพื่อพบกับ “ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” ฉันทามติยังรวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่ในขณะที่กระบวนการคัดสรรตัวผู้ที่จะมาดำรงตำแหนงทูตพิเศษกำลังดำเนินไป ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ที่ชัดเจนในประเด็นเหล่านี้

 

 

Christine Schraner Burgener ทูตพิเศษของสหประชาชาติประจำเมียนมา พบกับพล.อ.ประยุทธ์ และนายดอน ปรมตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ซึ่งแหล่งข่าวระบุว่า ไทยให้คำมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ที่หลบหนีการปะทะในเมียนมา แต่รัฐบาลไทยได้ชี้แจงกับ Ms Burgener อย่างชัดเจนว่าการพักพิงพวกเขาอย่างถาวรไม่ใช่ทางเลือก และพวกเขาจะต้องกลับไปเมียนมาเมื่อสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กองกำลังความมั่นคงของไทยและเมียนมามีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการต่อต้านการลักลอบผลิตยาเสพติดในพื้นที่ชายแดนระหว่างสองประเทศ

 

 

แหล่งข่าวในกองทัพไทยระบุว่า ผู้นำทหารของไทย ซึ่งรวมถึงอดีตผู้นำทหารเช่นพล.อ.ประยุทธ์ มีความใกล้ชิดกับพล.อ.มิน อ่อง ลาย แต่ไม่มีใครใกล้ชิดกับนายพลเมียนมามากกว่าพล.อ.ธนศักดิ์ ปฏิมาประกร อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาเรียกว่า “พี่ชาย”

 

 

พล.อ.ธนศักดิ์ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในรัฐบาลชั่วคราวที่นำโดยประยุทธ์หลังการรัฐประหารในปี 2557 ซึ่งในขณะนั้นผู้นำกองทัพได้โค่นล้มรัฐบาลพลเรือน

 


แม้จะมีแรงกดดันจากประชาคมระหว่างประเทศ แต่ไทยก็ไม่น่าที่จะสละความสัมพันธ์อันยาวนานกับทหารเมียนมาโดยบอกให้รัฐบาลทหารยอมรับข้อเรียกร้องจากภายนอกทั้งหมด แหล่งข่าวระบุ

 

 

“ผมมั่นใจว่านายกรัฐมนตรีจะช่วยผู้แทนยูเอ็นผ่านพล.อ.ธนศักดิ์ แต่ (ทหาร) จะไม่ล้ำเส้น” แหล่งข่าวกล่าว และว่า “เราอาจช่วยปูทางไปสู่การเยือนของอาเซียน และนำไปสู่การเจรจาต่อไปผ่านช่องทางทางการทูต” พร้อมย้ำว่าความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศไม่สามารถสร้างขึ้นได้ในช่วงเวลาสั้นๆ เพราะ “เราผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากและอุปสรรคต่างๆ ร่วมกันมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งเราสามารถเรียกอีกฝ่ายได้ว่าเป็นพี่เป็นน้องกัน”

 

 

ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามผู้ประท้วงอย่างโหดเหี้ยมรวมถึงบุคลลคนอื่นๆ มีรายงานว่าสูงถึงกว่า 800 คน ขณะที่นางออง ซาน ซูจี และนักการเมืองคนสำคัญคนอื่นๆ ถูกคุมขัง นายกวี จงกิจถาวร นักข่าวอาวุโสที่ทำข่าวต่างประเทศมาอย่างยาวนานระบุว่า ประเทศไทยไม่ได้อยู่เฉยๆ แต่ดำเนินการทูตอย่างเงียบๆ มาตลอด

 

 

กวีบอกว่า คาดว่าประเทศไทยจะมีบทบาทสำคัญในภารกิจอาเซียนที่วาดฝันไว้ในเมียนมา การเยือนของทูตพิเศษอาเซียนที่ยังไม่ได้รับการแต่งตั้งและคณะของพวกเขา อาจช่วยปูทางไปสู่การพูดคุยระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ ทหารและกองกำลังฝ่ายที่เห็นต่าง

 


อย่างไรก็ดีนายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ มองว่า รัฐบาลประยุทธ์ไม่ได้ใช้ความสัมพันธ์ใกล้ชิดของทหารกับเมียนมาเพื่อหยุดวิกฤต

 

 

“นายกฯประยุทธ์ต้องบอกแกนนำรัฐบาลทหารเมียนมาให้หยุดความรุนแรง และเปิดพรมแดนให้คนที่หลบหนีความขัดแย้งเข้ามา”นายกษิตกล่าว

 

 

อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศยังวิพากษ์วิจารณ์อาเซียนด้วยว่า การจัดการกับวิกฤตในเมียนมาสะท้อนถึงความล้มเหลวของอาเซียน เพราะการสังหารในเมียนมายังคงดำเนินต่อไป หลังผู้นำทหารเมียนมากลับจากการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนแล้วก็ตาม
“อาเซียนควรเห็นอกเห็นใจประชาชน ไม่ใช่ผู้ก่อรัฐประหาร มันไม่เป็นธรรมที่ออง ซาน ซูจี และชาวเมียนมา ต้องถูกปล้นประชาธิปไตยและชัยชนะของพวกเขา”กษิตกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง