รีเซต

ก้าวไกล ซัดบิ๊กตู่คือปัญหา จี้รบ. หยุดปกปิดความผิดตัวเอง แล้วยัดโทษประหารใส่ผู้ชุมนุม

ก้าวไกล ซัดบิ๊กตู่คือปัญหา จี้รบ. หยุดปกปิดความผิดตัวเอง แล้วยัดโทษประหารใส่ผู้ชุมนุม
มติชน
26 ตุลาคม 2563 ( 13:04 )
92
ก้าวไกล ซัดบิ๊กตู่คือปัญหา จี้รบ. หยุดปกปิดความผิดตัวเอง แล้วยัดโทษประหารใส่ผู้ชุมนุม

“พิจารณ์” ซัด “บิ๊กตู่” เสพติดอำนาจ แนะหยุดเอาความจงรักภักดีมาปกปิดความผิดตัวเอง ย้ำ นายกฯ ยอมรับความจริงว่าเป็นต้นตอปัญหา แล้วลาออก

 

เมื่อเวลา 09.40 น. วันนี้ (26 ต.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ที่มี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม เพื่ออภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 โดยก่อนการอภิปรายจะเริ่มต้นขึ้น ที่ประชุมรัฐสภาได้รับทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อน ประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2563

 

ต่อมา เวลา 11.15 น. นายพิจารณ์ เชาว์พัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายว่า ญัตติในวันนี้เต็มไปด้วยเนื้อหาที่ไม่นำไปสู่ทางออก มีแต่บิดเบือน กลบเกลื่อนและให้ร้าย โยนความผิดต่อผู้ชุมนุมโดยไม่ได้คำนึงถึงความผิดพลาดของตัวเอง การชุมนุมไม่ได้ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคจากที่ผ่านมาไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อหลังการชุมนุม และความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้ นานาประเทศต้องเชื่อมั่นว่าความขัดแย้งในสังคมสงบลง ไม่ใช่ใช้กฎหมายปิดปากประชาชน ความเชื่อมั่นก็จะลดลง ขณะที่การชุมนุมที่ทำเนียบก็มีการประกาศชัดเจนว่าจะยุติการชุมนุมเมื่อไร และที่มีการกล่าวหาว่า ผู้ชุมนุมขวางขบวนเสด็จ ทั้งที่รัฐบาลเป็นผู้ถวายการอารักขาความเรียบร้อยในการเสด็จ และผู้ชุมนุมก็หลีกเลี่ยงเส้นทางนั้นแล้ว แสดงว่า รัฐบาลไม่ได้สำนึกถึงความผิดพลาดของตนเอง แต่ไปใส่ร้ายผู้ชุมนุมนำไปสู่คดีความที่มีโทษถึงประหารชีวิต เติมเชื้อไฟในสังคม การสลายกาชุมนุมที่แยกปทุมวัน เช่น การฉีดน้ำที่มีสารเคมีใส่ผู้ชุมนุม ก็เป็นการทำเกินกว่าเหตุ ขณะที่นายกฯชี้แจงว่ามีการดำเนินการบางเรื่องที่ผู้ชุมนุมของมาแล้วแต่ตนอยากให้ชี้แจงให้ชัดเจนว่าทำเรื่องไหนแล้วบ้างและความคืบหน้าถึงไหน ไม่ใช่การฟอกขาวตัวเองและปกปิดความผิดในการแก้ปัญหาประเทศ นายกฯต้องทำความเข้าใจกับผู้ชุมนุมใหม่ ไม่ใช่ว่าเยาวชนจะมีใครมาชี้นำได้ พวกเขาฉลาดเกินกว่าใครจะชี้นำ ไม่อย่างนั้นค่านิยม 12 ประการที่รัฐบาลยัดใส่ก็คงจะอยู่ตรงนั้น

 

นายพิจารณ์ กล่าวว่า ส่วนมาตรา 9 ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อ้างกระทบความมั่นคงของรัฐ ซึ่งต้องไม่ใช่ความมั่นคงของรัฐบาล จะเอามาป้องกันความอยู่รอดของรัฐบาลไม่ได้ UN ก็แสดงท่าทีว่า ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคีอยู่ นายกฯต้องหยุดคุกคามประชาชนด้วยกฎหมายพิเศษ ที่ผ่านมาเคยมีการชุมนุมยืดเยื้อยาวนาน ทำลายทรัพย์สินราชการ จนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่สำหรับการชุมนุมนี้ไม่มีถึงขั้นนั้น แล้วจะประกาศให้ถอยคนละก้าว แต่ท่านก้าวเกินมาหลายก้าว ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่เท่ากับเพิกถอน นายกรัฐมนตรีต้องยกเลิกการดำเนิคดีกับผู้ที่ชุมนุมโดยสงบ นายกรัฐมนตรีเป็นคนเสพติดอำนาจ สมัยนี้ไม่มีเครื่องมือเหมือนหลังรัฐประหาร พอเกิดโรคระบาด จึงต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน นี่คือพฤติกรรมของผู้นำประเทศที่ลุแก่อำนาจและเสพติดอำนาจโดยแท้ อำนาจตุลาการก็บิดเบี้ยว ตอบสนองความอยุติธรรมในสังคม คำถามของนายกรัฐมนตรีว่าผมผิดอะไร ความแยกแตก ความอดอยากของประชาชนคือคำตอบที่ชัดเจน ความผิดที่ร้ายแรงคือไม่รู้ตัวว่าทำผิด ปฏิเสธที่จะยอมรับความจริงและจะแก้ไขความผิดพลาด ทำเสียสมดุลการรักษาสุขภาพกับเศรษฐกิจ ใช้อำนาจแทรกแซงองค์กรอิสระจนเสียสมดุล ตนจึงขอเรียกร้องให้เพิกถอน ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ปล่อยตัวและยุติการดำเนินคดีทุกข้อกล่าวหาต่อประชาชนทั้งหมดที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออก

 

นายพิจารณ์ กล่าวอีกว่า ส่วนคำถามที่นายกรัฐมนตรีถามว่า ผมผิดอะไร นั้น คำตอบชัดเจนอยู่แล้วว่าความแตกแยก ความยากจน ความสิ้นหวัง ความลำบากของประชาชนในห้วงเวลานี้คือคำตอบ ทางออกของประเทศต้องเริ่มที่นายกรัฐมนตรีต้องยอมรับว่า ตัวเองคือต้นตอของปัญหา อย่าปฏิเสธที่จะยอมรับความจริง ถึงเวลาที่พรรคร่วมรัฐบาลต้องทบทวนท่าทีนายกรัฐมนตรี หยุดนำความจงรักภักดีมากอดตัวเอง หยุดรักษาไว้ซึ่งอำนาจและปกปิดความผิดความล้มเหลวที่ตัวเองก่อ หยุดสะกดจิตตัวเองว่าไม่ผิดและยอมลาออกเปิดทางให้คนที่เห็นคนเท่าเทียมกันเข้ามาทำงานเพื่อหาทางออกของประเทศที่มีฉันทามติร่วมกัน แก้ไขรัฐธรรมนูญและคืนอำนาจให้ประชาชน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง