“พิชัย”เปิด 5 ข้อเจรจาการค้ากับสหรัฐ เชื่อสองฝั่งได้ประโยชน์ร่วม

“พิชัย”เปิด 5 ข้อเจรจาการค้ากับสหรัฐ เชื่อสองฝั่งได้ประโยชน์ร่วม ทั้งการเป็นหุ้นส่วนการค้า เปิดทางนำเข้าสินค้าเกษตร พลังงาน เครื่องบิน หนุนการลงทุนร่วม เข้มแอบอ้างแหล่งกำเนิดสินค้า คาดได้เจรจาเร็วๆนี้
#ทันหุ้น นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยรายละเอียดของหนังสือที่รัฐบาลไทยส่งไปเจรจาการค้ากับสหรัฐอเมริกาว่า หนังสือดังกล่าว เราได้ส่งออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไปยังผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกาหรือ USTR เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยหนังสือดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีของไทยและได้ผ่านการหารือร่วมกันระหว่างผู้แทนการค้าของไทยกับผู้แทนการค้าสหรัฐเรียบร้อยแล้ว
โดยข้อเสนอของไทย ประกอบด้วย 5 ข้อหลัก คือ 1.ไทยจะให้ความร่วมมือเพื่อเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา โดยเน้นไปที่อุตสาหกรรมการแปรรูป และอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นดาต้าเซ็นเตอร์ หรือ เอไอ และจะพิจารณาลดอุปสรรคทางการค้าทั้งที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษี
2.ไทยยินดีเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ โดยหมวดที่เสนอคือ สินค้าพลังงาน สินค้าเกษตร เครื่องบินและส่วนประกอบ โดยที่ปลัดกระทรวงพลังงานได้มีการเดินทางไปยังรัฐอลาสกา สหรัฐอเมริกาพร้อมกับบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท ผลิตไฟฟ้า เพื่อหารือกับผู้ว่าการรัฐอลาสกา รวมถึง บริษัทด้านพลังงานของสหรัฐ เพื่อหาโอกาสเพิ่มความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างกันต่อไป
3.ไทยจะเปิดตลาดสาขาเกษตร เช่น ผลไม้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
4.สำหรับสินค้าผ่านทาง ไทยจะบังคับใช้กฎหมายป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งเราได้ดำเนินการจนเป็นที่พอใจระดับหนึ่งของเจ้าหน้าที่กรมศุลสหรัฐอเมริกา
5.ส่งเสริมการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น ขณะนี้ ท่านประธานหอการค้าไทยเดินทางร่วมกับประธานหอการค้าไทย รวมถึง ภาคเอกชนชั้นนำของไทยอยู่ระหว่างการเดินทางไปสหรัฐเพื่อเข้าร่วมรายการประชุมเพื่อดูลู่ทางลงทุนร่วมกัน
เขากล่าวด้วยว่า ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐได้แสดงท่าที่ที่เป็นบวกต่อข้อเสนอของไทยดังกล่าว โดยได้พูดถึงไทยในเวทีการประชุมซาอุดิอาระเบีย อินเวสเมนท์ฟอรั่มเมื่อ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา และจากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐมีท่าทีเป็นบวกและกล่าวว่าเป็นข้อเสนอที่ดีในแบบเดียวกันกับข้อเสนอของประเทศอินโดนีเซียและไต้หวัน ประเด็นเหล่านี้ เราคิดว่า เป็นสัญญาณบวกจากระดับนโยบายของสหรัฐ และคาดได้ว่า จะมีการมอบหมายในระดับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเพื่อพิจารณารายละเอียดต่อไป อาจจะต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งถึงจะได้คุยกันได้
“ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าที่สหรัฐพร้อมจะหารือที่จะหาข้อยุติในส่วนของมาตรการภาษีตอบโต้ และจะนำไปสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์ต่อไป โดยข้อเสนอของเราที่เป็นจังหวะที่เราจะปรับปรุงตัวเอง แม้เราจะนำเข้ามากขึ้น แต่เราก็จะส่งออกให้มากขึ้นด้วย โดยสหรัฐเป็นตลาดที่มีสินค้าที่เราต้องการ แต่ผู้ผลิตไทยไม่ได้รับผลกระทบ เป็นของที่ลดต้นทุนการผลิตของไทย หรือมีคุณภาพและราคาที่แข่งขันได้ ส่งผลดีต่อการผลิตเพื่อส่งออกของไทย เชื่อมั่นว่า สองฝั่งได้ประโยชน์และจะได้ร่วมเจรจาเร็วๆนี้”