รีเซต

จีนปักหลักซ้อมรบจริงรอบเกาะไต้หวัน “ไช่” วิจารณ์จีน “ไร้ความรับผิดชอบ”

จีนปักหลักซ้อมรบจริงรอบเกาะไต้หวัน “ไช่” วิจารณ์จีน “ไร้ความรับผิดชอบ”
TNN ช่อง16
12 เมษายน 2566 ( 13:05 )
103
จีนปักหลักซ้อมรบจริงรอบเกาะไต้หวัน “ไช่” วิจารณ์จีน “ไร้ความรับผิดชอบ”





จีนซ้อมรบต่อเนื่อง


กระทรวงกลาโหมของไต้หวัน แถลงในวันอังคาร หลังจีนเสร็จสิ้นการซ้อมรบ 3 วันว่า เครื่องบินรบและเรือรบของจีน ยังคงปักหลักอยู่ในน่านน้ำรอบเกาะไต้หวัน 


ขณะที่ประธานาธิบดีไช่ อิง-เหวิน ของไต้หวัน วิพากษ์วิจารณ์จีนว่า แสดงพฤติกรรมที่ “ไร้ความรับผิดชอบ” สำหรับประเทศใหญ่ และบอกว่า การซ้อมรบยังทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพในไต้หวันและภูมิภาคด้วย


จีนเริ่มซ้อมรบเมื่อวันเสาร์ (8 เมษายน) ที่ผ่านมา หลังจากประธานาธิบดีไช่ อิง-เหวิน เดินทางกลับถึงกรุงไทเป หลังได้พบหารือกับนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในนครลอสแอนเจลีส 


จีน ซึ่งเตือนสหรัฐฯ อย่าอนุญาตให้ไช่ อิง-เหวิน เยือน หรือพบกับแมคคาร์ธี อ้างว่าไต้หวันยังเป็นดินแดนของจีนและไม่เคยปฏิเสธการใช้กำลังทหารเพื่อนำเกาะที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแห่งนี้ มาอยู่ภายใต้การควบคุมของจีน ซึ่งรัฐบาลไต้หวันโต้แย้งคำกล่าวอ้างของจีนอย่างรุนแรง 


แม้ว่าจีนแถลงในคืนวันจันทร์ (10 เมษายน) ที่ผ่านมาว่า การซ้อมรบสิ้นสุดลงแล้ว แต่กระทรวงกลาโหมไต้หวัน ระบุว่า ยังเห็นเรือรบของจีน 9 ลำ และเครื่องบินอีก 26 ลำ ซึ่งรวมทั้งเครื่องบินขับไล่ เจ-16 และซู-30 ที่กำลังลาดตระเวนพร้อมรบรอบเกาะไต้หวันในช่วงสายวันอังคาร 


กองทัพอากาศ, กองทัพเรือและทหารหน่วยขีปนาวุธชายฝั่งของไต้หวัน กำลังสังเกตการณ์และตอบโต้อย่างใกล้ชิด รัฐบาลไต้หวันประณามการซ้อมรบของจีนหลายครั้ง แต่ก็บอกว่า จะไม่เพิ่มความตึงเครียด หรือยั่วยุ 


ก่อนหน้านี้ กระทรวงกลาโหมไต้หวัน ระบุในวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า มีเครื่องบินรบจีน 91 ลำ บินปฏิบัติภารกิจรอบเกาะไต้หวัน 





อียูต้านจีนใช้กำลังเพื่อยึดครองไต้หวัน 


สหภาพยุโรป หรืออียู มีท่าทีต่อเรื่องนี้เช่นกัน เอริก แมเมอร์ โฆษกกรรมาธิการยุโรป แถลงในวันอังคารว่า สหภาพยุโรป ยังคงต่อต้านอย่างแข็งขันต่อการใช้กำลังเพื่อพยายามทำลายสถานภาพปัจจุบันในช่องแคบไต้หวัน และเรียกร้องสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน 


ท่าทีของโฆษกกรรมาธิการยุโรปมีขึ้น หลังจากเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา อียูแสดงความกังวลเกี่ยวกับการซ้อมรบของจีนรอบเกาะไต้หวัน โดยบอกว่า สถานะของเกาะไต้หวัน ไม่ควรจะถูกเปลี่ยนแปลงโดยการใช้กำลัง เนื่องจากการยกระดับความตึงเครียดใด ๆ, อุบัติเหตุ หรือการใช้กำลังต่อไต้หวัน จะส่งผลกระทบครั้งใหญ่ทั่วโลก




สหรัฐฯ-ฟิลิปปินส์ซ้อมรบครั้งใหญ่สุด


มีรายงานว่า สหรัฐฯ และฟิลิปปินส์เริ่มการซ้อมรบร่วมครั้งใหญ่สุดในรอบ 38 ปีแล้วเมื่อวานนี้ (11 เมษายน) ท่ามกลางความตึงเครียดในภูมิภาค และหนึ่งวันหลังจากจีนเพิ่งเสร็จสิ้นการซ้อมรบครั้งใหญ่รอบเกาะไต้หวัน 


การซ้อมรบประจำปี “บาลิกาตัน” ระหว่างสหรัฐฯและฟิลิปปินส์จะมีถึงวันที่ 28 เมษายน โดยจะมีทหารจากสหรัฐฯ 12,000 นาย และฟิลิปปินส์ 4,500 นายเข้าร่วม นอกจากนี้ ยังจะมีเจ้าหน้าที่จากกองทัพเรือออสเตรเลียมากกว่า 100 เข้าร่วมซ้อมรบด้วย และมีบุคลากรในกองทัพจากอีก 12 ประเทศเข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์


บาลิกาตัน ในภาษาตากาล็อค มีความหมายว่า “เคียงบ่าเคียงไหล่” 


เจ้าหน้าที่เผยว่า การซ้อมรบที่เป็นไฮท์ไลท์จะเกิดขึ้นในวันที่ 26 เมษายายน ซึ่งจะมีการซ้อมรบด้วยกระสุนจริงในทะเลที่ห่างจากชายฝั่งจังหวักซัมบาเลสออกไปราว 12 ไมล์ทะเล โดยจะมีการระเบิดเรือปลดประจำการของกองทัพเรือฟิลิปปินส์ด้วยขีปนาวุธและจรวดจากทั้งของกองทัพสหรัฐฯและฟิลิปปินส์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงแสนยานุภาพในการป้องกันทางทะเลของสองชาติพันธมิตร นอกจากนี้ ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์จะเข้าร่วมสังเกตุการณ์ด้วย





สหรัฐฯ-ฟิลิปปินส์ชี้ไม่ใช่การตอบโต้จีน


การซ้อมรบดังกล่าวมีการประกาศไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่หลังสหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงทางการทหารใหม่กับฟิลิปปินส์ ซึ่งปูทางให้สหรัฐฯ เข้าถึงฐานทัพฟิลิปปินส์ได้เพิ่มอีก 4 แห่ง เจ้าหน้าที่กองทัพสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์กล่าว การฝึกซ้อมดังกล่าวไม่ควรถูกมองว่าเป็นการตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวรอบเกาะไต้หวัน


ขณะที่ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เผยว่า จะไม่อนุญาตให้สหรัฐฯใช้ฐานทัพฟิลิปปินส์ในภารกิจโจมตีใด ๆ โดยฐานทัพใหม่สี่แห่งที่สหรัฐฯ สามารถเข้าถึงได้ ภายใต้ข้อตกลงกลาโหมส่วนขยายนั้น มีเป้าหมายเพื่อยกระดับการป้องกันตนเองของฟิลิปปินส์ ไม่ใช่เพื่อการโจมตี และมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเมื่อฟิลิปปินส์ต้องการ


ผู้นำฟิลิปปินส์เผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า สี่พื้นที่ใหม่ที่สหรัฐฯจะเข้าถึงเพิ่มได้ มีทั้งฐานทัพเรือและสนามบินในจังหวัดคากายัน รวมถึงค่ายทหารในจังหวัดอิซาเบลา ซึ่งทั้งหมดตั้งอยู่ใกล้ไต้หวัน นอกจากนี้ ยังมีเกาะบาลาบัคในจังหวัดปาลาวัน ซึ่งอยู่ใกล้ทะเลจีนใต้ด้วย


ทั้งนี้ น่านน้ำรอบ ๆ ฟิลิปปินส์ และทะเลจีนใต้ ถือเป็นหนึ่งในเส้นทางการค้าที่พลุกพล่านที่สุด และหลายชาติในบริเวณนี้มีประเด็นพิพาทพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับจีน 


ขณะที่จีนเผยว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีแต่จะทำให้เกิดความตึงเครียดมากขั้น ในขณะที่สันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคบั่นทอนลง

—————

แปล-เรียบเรียง: สุภาพร เอ็ลเดรจ 

ภาพ: Reuters


ข้อมูลอ้างอิง:

1, 2



ข่าวที่เกี่ยวข้อง