10 อันดับ "ข่าวปลอม" ที่คนสนใจสูงสุดช่วง 17 - 23 พฤษภาคม เช็กให้ชัวร์ก่อนแชร์
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 17-23 พฤษภาคม 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 1,202,574 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 255 ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 237 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 14 ข้อความ และข้อความที่มาจาก Facebook จำนวน 3 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 233 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 134 เรื่อง
ทั้งนี้ ดีอีเอส ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 122 เรื่อง
กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 54 เรื่อง
กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 9 เรื่อง
กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 28 เรื่อง
กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 20 เรื่อง
นายเวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์ล่าสุดนี้ พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวด้านกลุ่มนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง และกลุ่มเศรษฐกิจ ตามลำดับ
โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชน มากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง รับสมัครพนักงานกดรับไฟล์ทบิน ทางเพจ Thai corporate communications
อันดับที่ 2 : เรื่อง เว็บไซต์ https://hshtd.cc เป็นเว็บฯ ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
อันดับที่ 3 : เรื่อง เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ปี 2567 ได้รับ 1,000 บาท
อันดับที่ 4 : เรื่อง ลงทะเบียนทำใบขับขี่ออนไลน์ ผ่านเพจศูนย์รับทำใบขับขี่ใหม่หรือต่อ ทั่วประเทศ
อันดับที่ 5 : เรื่อง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเปิดตัวเว็บไซต์ใหม่ชื่อ pea.rkgo.cc
อันดับที่ 6 : เรื่อง รับสมัครงานเสริมไปรษณีย์ รายได้ 480 /วัน ทางเพจกรมพัฒนาการจ้างงานไทย
อันดับที่ 7 : ทอท. รับสมัครเจ้าหน้าที่กดรับไฟล์ทบินออนไลน์ รายได้ 25,000 บาท
อันดับที่ 8 : เรื่อง น้ำมะนาวใช้ล้างไตได้
อันดับที่ 9 : เรื่อง ท่าอากาศยานดอนเมือง เปิดเพจเฟซบุ๊กใหม่ ชื่อ Don Mueang International Airport-DMK
อันดับที่ 10 : เรื่อง สะบัดนิ้ว ช่วยกระตุ้นสมองและความจำ
“จาก 10 อันดับ พบข่าวเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการมากถึง 6 อันดับ โดยส่วนใหญ่รูปแบบการหลอกลวง การแอบอ้างเป็นหน่วยงานของทางภาครัฐ ทำให้ประชาชนส่วนมากหลงเชื่อ และสร้างความเข้าใจผิด จึงคาดว่าอาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เข้าถึงความสนใจของผู้รับข่าวสาร โดยกรณีนี้ทำให้เกิดความเสียหาย ตลอดจนอาจทำให้เกิดการสูญเสียทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมทางออนไลน์” นายเวทางค์ กล่าว
“อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชนในเรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม หรือกดลิงก์เข้าสู่แพลตฟอร์มที่มีการส่งต่อๆกัน ก็จะทำให้ได้รับข้อมูลผิดๆ และถูกกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งสูญเสียทรัพย์สินได้ ส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด โดยสามารถตรวจสอบ ติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ที่
ไลน์ @antifakenewscenter
เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/
ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand
และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ตลอด 24 ชั่วโมง”