รีเซต

ตามนัดBSR-BEMยื่นซอง ชิงสายสีส้มโอกาส50:50

ตามนัดBSR-BEMยื่นซอง ชิงสายสีส้มโอกาส50:50
ทันหุ้น
10 พฤศจิกายน 2563 ( 08:00 )
141

ทันหุ้น – สู้โควิด – BSR-BEM  ยื่นซองชิงรถไฟฟ้าสีส้มตะวันตกตามนัด ประกาศจัดทำข้อเสนอที่ดีที่สุดทั้งคู่ นักวิเคราะห์ชี้หากใช้เกณฑ์ราคา 100% ก็จะมีโอกาสชนะการประมูลทั้ง 2 บริษัท แต่หากใช้เกณฑ์ราคา 70% เทคนิค 30% BEM ได้เปรียบ ชี้ BEM ผลงานไตรมาส 3 กำไรแตะ 734 ล้านบาท ขณะไตรมาส 4 ผลงานดีกว่าปีก่อน เป้า 11.10 บาท ถ้าชนะสายสีส้มบวกอีก 1.35 บาท

 

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ภายหลังปิดรับเอกสารแสดงความประสงค์เข้าร่วมคัดเลือกเป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จากภาคเอกชนเวลา 15.00 น. เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563

 

ปรากฏว่ามีเอกชนเข้ายื่นซองข้อเสนอการร่วมลงทุนฯ จำนวน 2 ราย คือ 1. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM, และ 2.กลุ่มกิจการร่วมค้า BSR  (BSR Joint Venture)  ประกอบด้วย 1. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC,  2) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS, และ 3.บริษัท ซิโน – ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC

 

ผู้สื่อข่ายรายงานว่า ตัวแทนของ BEM ได้เดินทางยื่นเอกสารเสร็จสิ้นเมื่อ 11.19 น. โดยได้ยืนยันว่า บริษัทได้จัดทำข้อเสนอที่ดีที่สุด ในการร่วมลงทุนโครงการดังกล่าว ส่วนจะใช้กติกาในการพิจารณาแบบใดนั้น อยู่ในกระบวนการทางศาลปกครองสูงสุด ซึ่งทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตาม

 

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เป็นตัวแทนกลุ่ม BSR เข้ายื่นเอกสารเสนอร่วมลงทุนฯ เมื่อเวลาประมาณ 13.30 น. โดยได้ยืนยันว่ากลุ่ม BSR มีความพร้อมในการร่วมลงทุนโครงการดังกล่าวฯ พร้อมแสดงความมั่นใจว่าได้จัดเตรียมเอกสาร และข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการสูงที่สุด ทั้งนี้ทางกลุ่ม BSR พร้อมน้อมรับ และดำเนินการตามคำสั่งศาลไม่ว่าจะมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างใดก็ตาม

 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานคร ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และ สถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

 

โอกาส 50 : 50

 

นายดิษฐนพ วัธนเวคิน นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระพัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ระบุ ภาคเอกชนต่างมายื่นซองข้อเสนอฯ ตามสิทธิ โดยระหว่างนี้ต้องติดตามผลการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งหากยังคงยืนยันตามศาลปกครองชั้นต้น ที่มีมติคุ้มครองให้ รฟม. ใช้หลักเกณฑ์การประเมินด้านราคา 100% เอกชนทั้ง 2 รายก็มีโอกาสชนะการประมูลเท่าๆ กัน แต่หากศาลปกครองสูงสุด มีมติให้ทางรฟม.สามารถใช้เกณฑ์การประเมินด้านราคา 70% และด้านเทคนิค 30% ทาง BEM จะเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์การก่อสร้างโครงการใต้ดินสูงกว่า

 

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนซึมซับกระแสข่าวดังกล่าว เพื่อพิจารณาประกอบกับศักยภาพทางธุรกิจ และผลการดำเนินงานของบริษัททั้ง 2 ซึ่งมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งตามปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นใกล้เคียงช่วงเวลาก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19

 

คาด BEM ฟื้นแกร่ง

 

ฝ่ายวิเคราะห์คาดการณ์กำไรสุทธิงวดไตรมาส 3/2563 ของ BEM ที่ 734 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 382% เมื่อเทียบกับงวดไตรมาส 2/2563 (QoQ) แต่ยังคงลดลง 22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ปัจจัยหลักมาจากการเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายที่สามารถเพิ่มสัดส่วนผู้โดยสารให้กับ BEM ได้อย่างแข็งแกร่ง แต่ก็มีต้นทุนการเดินรถ และอัตราดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้น

 

ฝ่ายวิเคราะห์คาดกำไรงวดไตรมาส 4/2563 จะมีโอกาสกลับมาเติบโต 19% YoY ได้จากปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง และต้นทุนค่าสัมปทานทางด่วนที่ปรับลดลง จึงแนะนำ “ซื้อ” ราคาเหมาะสมปี 2564 ที่ 11.10 บาท ทั้งนี้หาก BEM เป็นผู้ชนะการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-มินบุรี) คาดว่าจะเพิ่มมูลค่าหุ้นประมาณ 1.35 บาท

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง