รีเซต

เปิดหลักปฏิบัติการจัดเก็บ ค่าลิขสิทธิ์เพลง ทำอย่างไรไม่ให้เอาเปรียบกัน?

เปิดหลักปฏิบัติการจัดเก็บ ค่าลิขสิทธิ์เพลง ทำอย่างไรไม่ให้เอาเปรียบกัน?
TNN ช่อง16
26 พฤศจิกายน 2563 ( 11:37 )
413
เปิดหลักปฏิบัติการจัดเก็บ ค่าลิขสิทธิ์เพลง ทำอย่างไรไม่ให้เอาเปรียบกัน?

        กฎหมายลิขสิทธิ์ ที่มีไว้เพื่อคุ้มครองผลงานลิขสิทธิ์ของเจ้าของผลงาน ป้องกันการลอกเลียนแบบผลงานต่างๆ  แต่ก็ยังมีช่องว่างที่ทำให้เกิดการแอบอ้างการเก็บค่าลิขสิทธิ หรืออัตราค่าลิขสิทธิ์ที่ยังไม่มีกำหนดเป็นมาตรฐานที่ชัดเจน อย่างเช่น ลิขสิทธิ์เพลงของค่ายเพลงต่างๆ กับบรรดาผู้ประกอบการสถานบันเทิง หรือร้านอาหารที่ใช้เพลงในกิจกรรมของธุรกิจ 

ทำความเข้าใจกับ "ลิขสิทธิ์เพลง" 

        ลิขสิทธิ์ จัดเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง  โดยการสร้างสรรค์งานลิขสิทธิ์จะได้รับความคุ้มครองอัตโนมัติโดยไม่จำเป็นต้องมีการจดทะเบียน ซึ่งจะคุ้มครองทุกประเทศภายใต้อนุสัญญากรุงเบิร์น ถ้าเราสามารถพิสูจน์ได้ว่า เราเป็นเจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์นี้จริงๆ   อย่างไรก็ตาม กรมทรัพย์สินทางปัญญามีบริการจดแจ้งงานลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นเพียง "การจดแจ้ง" เท่านั้น ไม่ได้แสดงว่าเราเป็นเจ้าของ เพียงแต่กรมฯได้รับทราบว่าเราได้สร้างสรรค์ขึ้นในวันที่เท่าไหร่ หากมีการพิสูจน์ขึ้นมาก็จะได้มีหลักฐานว่าเราได้สร้างสรรค์งานนี้

        ส่วน ลิขสิทธิ์เพลง ก็จะหมายถึง เพลงซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งที่คุ้มครองการสร้างสรรค์ที่ถูกถ่ายทอดออกมา (express) โดยความคุ้มครองจะเกิดขึ้นทันทีเมื่องานนั้นทุกถ่ายทอดออกมา โดยจะคุ้มครองอัตโนมัติในทุกประเทศที่อยู่ภายใต้อนุสัญญากรุงเบิร์น ซึ่งถ้ามีโอกาสเราสามารถไปจดแจ้งงานลิขสิทธิ์ได้ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเป็นหลักฐานแห่งการสร้างสรรค์งานนี้ขึ้นมาได้


cr:Pixabay

ประโยชน์แก่เจ้าของ ลิขสิทธิ์

        เจ้าของลิขสิทธิ์ในฐานะผู้สร้างสรรค์เพลงจะได้สิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในการ ทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ ให้เช่าและขายงานอันมีลิขสิทธิ์ได้ แน่นอนว่าจะก่อให้เกิดรายได้แก่ผู้สร้างสรรค์เป็นรางวัลตอบแทน ในความพยายามในการคิดและสร้างสรรค์ผลงาน  แถมยังช่วยให้เกิดแรงจูงใจในการคิดและสร้างสรรค์ ของคนอื่นๆ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองและได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพื่อจะได้นำงานลิขสิทธิ์นั้นมาใช้ประโยชน์ได้ต่อไปด้วย

การเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงในไทยยังไม่มีเกณฑ์ที่ชัดเจน

        นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้จัดทำ “หลักปฏิบัติที่ดีในการบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง” ขึ้น โดยได้นำแนวทางของประเทศออสเตรเลีย สิงคโปร์ สหภาพยุโรป และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) มาเป็นต้นแบบ

        โดยสาเหตุที่ต้องจัดทำหลักปฎิบัติฯ ดังกล่าวออกมาเนื่องจากกฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ได้กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำกับดูแลการบริหารจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เอาไว้ ทำให้การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงในประเทศไทยมีแนวทางที่แตกต่างกัน โดยเจ้าของลิขสิทธิ์แต่ละรายสามารถกำหนดอัตราค่าลิขสิทธิ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดเอง ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกัน ส่งผลต่อการขออนุญาตใช้สิทธิจากการนำงานเพลงไปใช้ของผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงแรม หรือสถานบันเทิง ในลักษณะต่างๆ มาโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมา กรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องดังกล่าวและมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการหาแนวทางเพื่อให้การบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 

    *** หลักปฏิบัติที่ดีในการบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง สามารถดูเพิ่มเติมได้ใน Gallery    

หลักปฏิบัติที่ดีในการบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง"  ค่ายเพลงต้องนำไปปฏิบัติ

       “หลักปฏิบัติที่ดีในการบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง” ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้จัดทำขึ้น ได้มอบให้บริษัทที่จดเก็บใช้เป็นเกณฑ์ หรือแนวทางในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง เพื่อให้เกิดความชัดเจน เหมาะสมและให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

        "หลักปฏิบัติที่ดีในการบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงนี้จะเป็นแนวทางเบื้องต้น  ในการพัฒนาระบบการบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ในประเทศไทย โดยจะช่วยให้การบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส และเป็นธรรม อันจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในองค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ของประเทศ ตลอดจนได้รับการยอมรับจากเจ้าของสิทธิ ผู้ใช้งาน และสาธารณชนโดยรวม และส่งผลให้อุตสาหกรรมเพลงของไทยเติบโตได้อย่างมั่นคงต่อไป" นายวุฒิไกร กล่าว 


cr:Pixabay

บริษัทจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง ต้องแจ้งข้อมูลการจัดเก็บต่อ กกร.

          ปัจจุบันมีบริษัทที่แจ้งจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ต่อกกร. จำนวนทั้งสิ้น 39 ราย โดยมีเพลงไทยจำนวน 262,420 เพลง และเพลงสากลจำนวน 9,608,553 เพลง  ซึ่งต่อจากนี้ บริษัทจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงจะต้องแจ้งข้อมูลการจัดเก็บต่อ คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.)กรมการค้าภายใน (คน.) โดยมีข้อมูลที่จะต้องแจ้ง คือ รายชื่อเพลง อัตราการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ เงื่อนไขการจัดเก็บ  

        อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าอัตราการจัดเก็บที่แจ้งต่อ กกร. บริษัทจัดเก็บ สามารถกำหนดอัตราได้เองไม่มีกฎหมายควบคุม แต่การจัดเก็บค่าตอบแทนจากการใช้งานเพลง บริษัทจัดเก็บจะต้องจัดเก็บตามอัตราที่แจ้งต่อ กกร.และหากมีการจัดเก็บค่าตอบแทนไม่เป็นไปตามที่แจ้งต่อ กกร. ผู้ได้รับผลกระทบสามารถร้องเรียนได้ที่ กกร. กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ 

Cover เพลงเผยแพร่ใน YouTube ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ไหม? 

        แน่นอนว่า เพลง คืองานลิขสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย   กรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุว่า การ Cover เพลงที่เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์คือ การทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน แต่เนื่องจากกฎหมายลิขสิทธิ์เป็นความผิดที่ยอมความได้ หากเจ้าของผลงานไม่แจ้งความร้องทุกข์ก็จะไม่มีการดำเนินคดี วิธีการ Cover เพลงที่ถูกต้องจึงควรขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างเป็นทางการ การทำเพื่อการค้าจะรวมถึงการได้รับเงินค่าโฆษณาจากคลิปที่ Cover ด้วย  

        สำหรับเพลงที่ Cover ซ้ำหรือร้องใหม่ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ ต้องเป็นเพลงเก่ามากๆ ที่หมดอายุการคุ้มครองทางลิขสิทธิ์+50 ปีหลังจากผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต แต่หากยังอยู่ในอายุไม่เกิน 50 ปีต้องขออนุญาตทุกกรณี

        อย่างไรก็ดี  Youtube เองก็มีเทคโนโลยีช่วยตรวจสอบอยู่แล้วว่ามีการใช้เพลง-วิดีโอที่ละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่  หากละเมิดจะมีการแจ้งเตือน และหากนำเพลงที่ Cover  ไปแชร์ต่อจะมีความผิดฐานเผยแพร่ แต่ไม่ผิดฐานดัดแปลง ส่วนการ Live สดเพลงของคนอื่นสามารถทำได้ หากเจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาต แต่หากมีผลกระทบต่อยอดขายของเจ้าของลิขสิทธิ์ก็สามารถดำเนินคดีได้  โดยควรยึดหลักว่าการทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน ต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน


cr:Pixabay


ข้อมูล : กรมทรัพย์สินทางปัญญา   , ลิขสิทธิ์คืออะไร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คลิก

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง