เปิด 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา (โรงเรียนไป-กลับ)

วันนี้( 14 ก.ย.64) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัยอธิบดีกรมอนามัย ระบุถึง มาตรการแซนบล็อก เซฟตี้โซน
ในโรงเรียน ไป-กลับ ว่า แนวทางดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ที่กำหนดรูปแบบการเรียนการสอนในโรงเรียน สิ่งสำคัญคือ
จะคำนึงถึงพื้นที่การระบาดในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่
- จังหวัดพื้นที่สีเขียว ให้เข้มมาตรการสาธารณสุข 6 ข้อ (DMHC) และมาตรการเสริม การเข้าถึงวัคซีนครูและบุคลากรต้องรับวัคซีนไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 และต้องมีการประเมินความเสี่ยง 1 วันต่อสัปดาห์
- พื้นที่เฝ้าระวังสูง พื้นที่สีเหลือง ยังคงมาตรการสาธาณรสุข ให้มีการตรวจ ด้วยชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วยตัวเอง หรือ ATK 1 ครั้งต่อสัปดาห์ , ครูบุคลากรฉีดวัคซีนไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 , ประเมินความเสี่ยง 1 วันต่อสัปดาห์
-พื้นที่ควบคุม สีส้ม คงมาตรการสาธารณสุข เช่นเดียวกัน ตรวจ ATK 1 ครั้งต่อสัปดาห์ , ครูบุคลากรฉีดวัคซีนไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 , ประเมินความเสี่ยง 2 วันต่อสัปดาห์
-พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่สีแดง คงมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มงวด แต่ต้องเพิ่มในมาตรการโดยรอบโรงเรียนด้วย เช่น สถานประกอบกิจการ กิจกรรมรอบรั้วสถานศึกษาในระยะ 10 เมตร ต้องผ่านการประเมินความเสี่ยง หรือ โควิดฟรี , มีการจัด School Pass สำหรับเด็กนักเรียนครูและบุคลากร คือ ข้อมูลความเสี่ยงแต่ละบุคคล มีผลการตรวจ ATK หรือประวัติการได้รับวัคซีน หรือประวัติที่เคยติดเชื้อในช่วง 1-3 เดือน หากจะเปิดเรียนต้องจัดกลุ่มนักเรียนต่อห้องเรียนขนาดปกติไม่เกิน 25 คน , ตรวจ ATK 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ , ครูบุคลากรต้องได้รับวัคซีนร้อยละ 85 ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงนักเรียนและให้มีการประเมินความเสี่ยงตามวันต่อสัปดาห์
- พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดพื้นที่สีแดงเข้ม ให้คำนึงและปฏิบัติตามมาตรการข้อ 1 ถึงข้อ 5 , ตรวจ ATK 2 ครั้งต่อสัปดาห์ , ครูบุคลากรและนักเรียนต้องได้รับวัคซีนร้อยละ 85 หรือ 100% และให้ประเมินความเสี่ยงทุกวัน
สำหรับ 7 มาตรการหลัก หากต้องเปิดเรียน ,สถานศึกษาประเมินความพร้อมเปิดเรียนผ่าน Thai Stop covid และรายงานการติดตามประเมินผล การทำกิจกรรมร่วมกันในรูปแบบ Small Bubble (เน้นกลุ่มเล็ก) ,การจัดระบบให้บริการอาหารตามหลักสุขาภิบาลและหลักโภชนาการ , การจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมให้ได้เกณฑ์มาตรฐาน , จัดให้มี School isolation แผนเผชิญเหตุ , ควบคุมดูแลการเดินทางไปกลับของนักเรียน เช่น รถรับส่งรถส่วนบุคคล และพาหนะโดยสารสาธารณะ , จัดให้มี School Pass สำหรับนักเรียนครูและบุคลากรในสถานศึกษา ประกอบด้วย ข้อมูลผลการประเมินของครู และนักเรียนผลการตรวจ ATK ภายใน 7 วัน ประวัติการรับวัคซีน
หากโรงเรียนจำเป็นที่จะต้องเปิด สิ่งสำคัญ คือ จะต้องจำกัดคนเข้าออกให้มีการคัดกรองด้วยชุดตรวจด้วยตัวเอง หรือ ATK , จัดกิจกรรมแบบกลุ่มเล็กหลีกเลี่ยงการสัมผัสกลุ่มใหญ่ , มีการรายงานผลสุ่มตรวจประเมินความเสี่ยงครูและนักเรียนทุก 14 วันหรือ 1 เดือนต่อภาคเรียน , เข้มงวดมาตรการทางสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อมรวมถึงมาตรการทางสังคมและหากพบการติดเชื้อในโรงเรียนให้ปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุของกระทรวงสาธารณสุข
ซึ่งมาตรการขั้นต้น ได้ถูกกำหนดและปรับรูปแบบ จากการนำร่องเปิดการเรียนการสอนแบบ on-site ก่อนหน้านี้ 15 แห่งโดยเป็นโรงเรียนประจำ ที่มีความจำเป็นต้องเปิดดูแลนักเรียนในบางพื้นที่
เบื้องต้นที่ได้มีการนำร่อง พบว่า ดำเนินการไปได้ด้วยดีแต่ก็พบการติดเชื้อในโรงเรียน
สำหรับการติดเชื้อในครูและนักเรียนที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่เกิดจากไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันที่ได้กำหนด อีกทั้งโรงเรียนประจำส่วนหนึ่งจะมีบุคลากรภายนอกเข้าออก หรือมีบุคลากรทางการศึกษาเดินทางไปกลับแล้วไม่คัดกรองความเสี่ยง ไม่มีระบบแซนบล็อค หรือ Safety Zone in school รวมถึงกรณีโรงเรียนประจำ พบ หอพักมีความแออัด
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อในกลุ่มวัยเรียนและวัยรุ่น ในช่วงอายุ 16-18 ปี มีผู้ติดเชื้อสะสม 129,165 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 90 เป็นคนไทย อีกร้อยละ 10 เป็นชาวต่างชาติ มีผู้เสียชีวิตสะสม 15 คน ส่วนใหญ่เป็นโรคประจำตัวร่วม
โดยในกลุ่ม12-18ปี ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 74,932 คน เข็มที่ 2 3,241 คน ส่วนครู-บุคลากร สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับวัคซีนเข็ม 1และเข็ม2 จำนวนรวม 897,423 คน ในกลุ่มเด็ก 12 - 18 ปีที่มีโรคประจำตัวที่รับวัคซีนไฟเซอร์ เข็ม 1 อยู่ที่ 74,932 คน เข็ม2 3,241 คน
ทั้งนี้ พบว่า ตั้งแต่มีการระบาดระลอกเดือนเมษายนเป็นต้นมาพบว่าสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในเด็กกลุ่มนี้มีอัตราสูงขึ้นทุกเดือน โดยสิงหาคม เดือนเดียว ติดเชื้อสะสม อยู่ที่ 69,628 คน
อธิบดีกรมอนามัย ระบุอีกว่า แนวโน้มผู้ติดเชื้อในกลุ่มเด็กวัยเรียนวัยรุ่นถึงแม้จะไม่มีการเปิดให้เรียนตามโรงเรียนก็ตามแต่ก็ยังพบการติดเชื้อสูง ซึ่งการติดเชื้อส่วนหนึ่งมาจากการติดเชื้อในครอบครัวและการเดินทางไปสัมผัสผู้ติดเชื้อ