รีเซต

รอมฎอน : ชาวมุสลิมปรับตัวอย่างไรในเดือนรอมฎอนท่ามกลางการระบาดของโควิด-19

รอมฎอน : ชาวมุสลิมปรับตัวอย่างไรในเดือนรอมฎอนท่ามกลางการระบาดของโควิด-19
บีบีซี ไทย
24 เมษายน 2563 ( 11:12 )
140

ในเดือนรอมฎอนซึ่งเริ่มต้นวันนี้ (24 เม.ย.) เป็นวันแรกชาวมุสลิมจะถือศีลอดตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตกเป็นเวลา 30 วัน นอกจากนี้ยังมีการรวมตัวกันเพื่อปฏิบัติศาสนกิจและกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งที่บ้านและมัสยิด แต่การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้รอมฎอนปีนี้แตกต่างจากทุกปีที่ผ่านมา ชาวมุสลิมรับมือและปรับตัวอย่างไรกันบ้าง

 

จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และการพบผู้ติดเชื้อกลุ่มใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิมที่เดินทางกลับจากการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในต่างประเทศ ทำให้หลายคนกังวลว่าพี่น้องมุสลิมจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ และหากมีมาตรการป้องกันตัวเองและควบคุมการระบาดไม่ดีพอ เดือนรอมฎอนที่จะมีแต่ความสุขอาจจะเต็มไปด้วยความเศร้าก็เป็นได้

 

 

"ช่วงรอมฎอน ตอนเย็น ๆ จะมีของกินขายเต็ม แต่ปีนี้ก็ไม่รู้จะเป็นไง" จันทนา กูโน ชาว อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เล่าถึงบรรยากาศเดือนรอมฎอนปีก่อน ๆ ที่การจับจ่ายซื้อของในชุมชนเป็นไปอย่างคึกคักในช่วงเย็น เพื่อเตรียมสำหรับการละศีลอดในแต่ละวัน ก่อนที่ช่วงค่ำจะมีการละหมาดที่มัสยิดตลอดทั้งเดือน แต่เธอคาดว่ารอมฎอนปีนี้บรรยากาศน่าจะต่างไปมาก

 

จันทนาเล่าว่า จริง ๆ แล้วบรรยากาศการประกอบศาสนกิจของชาวมุสลิมในปัตตานีค่อย ๆ เปลี่ยนไปตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ช่วงต้นเดือนมกราคม และสถานการณ์รุนแรงขึ้นในเดือน มี.ค. หลายคนเลือกที่จะละหมาดที่บ้าน ขณะที่มัสยิดเองก็ขอความร่วมมือไม่ให้ประชาชนมารวมตัวกัน ทุกวันนี้ชาวบ้านจะออกจากบ้านเฉพาะเวลาที่ไปซื้อของที่ตลาดเท่านั้น

 

Getty Images
บรรยากาศการจับจ่ายซื้อของที่ตลาดสดใน จ.นราธิวาส เมื่อต้นเดือนเมษายน

เช่นเดียวกับชาวมุสลิมในกรุงเทพฯ หลายคนที่ยินดีทำตามมาตรการของรัฐด้วยการละหมาดและละศีลอดที่บ้าน แต่ด้วยความที่ไม่คุ้นเคยกับการละหมาดลำพังโดยไม่มีอิหม่ามเป็นผู้นำ ชาวมุสลิมบางคนจึงป้องกันความผิดพลาดด้วยการศึกษาขั้นตอนต่าง ๆ อย่างละเอียด รวมถึงเปิดดู "ไลฟ์สดการละหมาด" ที่มีโต๊ะอิหม่ามนำการปฏิบัติศาสนกิจช่วงรอมฎอน

 

ล้อมวงกินข้าว-บ้วนน้ำลาย-ฮารีรายอ

เมื่อพูดถึงการถือศีลอด หนึ่งในวิถีปฏิบัติของชาวมุสลิมที่คนทั่วไปมักนึกถึงคือการล้อมวงรับประทานอาหารในภาชนะเดียวกันช่วงละศีลอดในแต่ละวัน และ "การบ้วนน้ำลาย" ซึ่งในภาวะโรคระบาดเช่นนี้ อาจเป็นพฤติกรรมที่น่าห่วงไม่น้อย เนื่องจากน้ำลายเป็นสารคัดหลั่งที่อาจปนเปื้อนเชื้อไวรัส

 

นพ.ชาติชาย วงษ์อารี นายกสมาคมแพทย์มุสลิม และผู้อำนวยการโรงพยาบาล เวชการุณย์รัศมิ์ อธิบายกับบีบีซีไทยถึงประเด็นนี้ว่า การบ้วนน้ำลายช่วงถือศีลอดเป็นสิ่งที่เคยปฏิบัติกันในอดีตเมื่อ 40-50 ปีก่อน แต่ปัจจุบันนี้มีการสร้างความเข้าใจใหม่ว่า น้ำลายเป็นสิ่งที่ผลิตโดยร่างกาย ไม่ได้เป็นการดื่มน้ำจากภายนอกชาวมุสลิมจึงสามารถกลืนน้ำลายได้ในช่วงถือศีลอด

 

เช่นเดียวกับพฤติกรรมการรับประทานที่มีการใช้ภาชนะร่วมกัน นพ.ชาติชาย กล่าวว่า "เป็นเรื่องเก่า" แต่ "ไม่ใช่ว่าไม่มี" เพราะปัจจุบันประชาชนใส่ใจเรื่องสุขอนามัยมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ในกลุ่ม "ดะวะห์" หรือผู้เผยแผ่ศาสนาที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกัน กินอยู่หลับนอนด้วยกัน

 

นพ.ชาติชายเชื่อว่าชาวมุสลิมทั่วประเทศจะปฏิบัติตามประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรีเรื่องมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในการปฏิบัติศาสนกิจที่ออกมาตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย. และชาวมุสลิมจำนวนมากก็ให้ความร่วมมืออย่างดี เช่น งดการเดินทางมามัสยิดหรือการเว้นระยะห่างเมื่อรับประทานอาหารร่วมกันที่บ้าน

 

เขาเชื่อว่าช่วงเดือนรอมฎอนชาวมุสลิมทุกคนจะปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคระบาดอย่างเคร่งครัดประกอบศาสนกิจที่บ้าน ซึ่งลดการสัมผัสที่ไม่จำเป็นได้มาก แต่สิ่งที่ต้องย้ำกับชาวมุสลิมคือเรื่องการออกไปตลาดเพื่อจับจ่ายซื้อของเพื่อนำมาประกอบอาหารในช่วงละศีลอดแต่ละวัน ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อจากแหล่งชุมนุมชน

 

นพ.ชาติชายแนะนำให้ชาวมุสลิมปรับพฤติกรรมโดยการซื้อสินค้าครั้งเดียว เพื่อให้สามารถประกอบอาหารได้หลายมื้อแทน

 

นายกสมาคมแพทย์มุสลิมยอมรับว่าสิ่งที่เขากังวลและเห็นว่าอาจมีความเสี่ยงต่อการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่คือกิจกรรมใน "วันฮารีรายอ" หรือ "รายอ" ที่เปรียบเหมือนเทศกาลการให้อภัยและกระชับความสัมพันธ์ทั้งในครอบครัวและชุมชน ซึ่งจะจัดขึ้นหลังการสิ้นสุดระยะเวลาถือศีลอดครบ 1 เดือน

 

ช่วงเทศกาลฮารีรายอนี้ คนไกลบ้านก็มักเดินทางกลับเพื่อร่วมพิธีละหมาดอีฎิ้ลฟิตร์ที่มัสยิด โดยมัสยิดใหญ่ ๆ อาจจะมีผู้ไปร่วมพิธีนับพันคนเลยทีเดียว

 

นพ.ชาติชายอธิบายว่าการละหมาดร่วมกันหรือการพบปะกันหลังสิ้นสุดการถือศีลอดเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติต่อกันมา แต่ไม่ได้เป็น "ข้อกำหนด" ว่าต้องทำในช่วงฮารีรายอ แตกต่างจากการละหมาด 5 เวลา หรือละหมาดวันศุกร์ที่ถือเป็นข้อกำหนดที่ชาวมุสลิมต้องปฏิบัติ เขาเสนอว่าหากมีการออกประกาศห้ามรวมตัวกันช่วงฮารีรายอน่าจะเป็นเรื่องดี

 

สื่อสารด้านสาธารณสุขด้วยหลักคำสอน

"...การเผชิญหน้ากับโควิด-19 เราจะเผชิญกับมันด้วยอวิชาไม่ได้ เราต้องเผชิญหน้ากับมันด้วยความรู้ทางวิชาการด้านสาธารณสุข และทางด้านศาสนา ท่านบอกว่าเวลาเราจะสื่อด้วยการนำคำสอนจากคัมภีร์อัลกุรอานมาสอดแทรกให้คนรู้ว่าความรู้ด้านสาธารณสุขกับด้านศาสนามันเป็นเรื่องเดียวกัน"

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ให้ข้อมูลกับบีบีซีไทยถึงแนวทางการสื่อสารกับชาวมุสลิมในภาวะที่มีโรคระบาด โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวดชายแดนใต้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อศาสนกิจที่ต้องปฏิบัติ

 

ดร.สุกรีกล่าวว่าสิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงในการสื่อสารคือ "ภาษา" เนื่องจากชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้ภาษามลายูในการสื่อสาร ทางมหาวิทยาลัยจึงจัดทำหนังสือคู่มือการเผชิญหน้ากับโรคระบาดโควิด-19 เป็นภาษามลายูและไทย

 

ดร. สุกรีมองว่าการสื่อสารเป็นหัวใจของการควบคุมโรคระบาดและป้องกันการติดเชื้อ แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากโดยเฉพาะเมื่อประชาชนต้องปรับเปลี่ยนวิถีการปฏิบัติศาสนกิจบางอย่างเพราะคนจำนวนไม่น้อยบอกว่า "กลัวบาป"

 

"รอมฎอนมีแค่ปีละครั้ง และสำหรับบางคนถ้าไม่ได้ไปละหมาดครบทั้ง 30 คืน (ช่วงเดือนรอมฎอน) ก็จะรู้สึกว่าตัวเองทำหน้าที่ได้ไม่ดีพอ ถ้าผู้นำทางศาสนาสื่อสารผ่านการตีความจากพระคัมภีร์ว่าอนุญาตให้ทำอะไรบางอย่างได้ ก็จะทำให้ผู้คนเชื่อฟังและปฏิบัติตามเป็นอย่างดี" รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ให้คำแนะนำ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง