ต้องอ่าน! จอดรถกีดขวางทางเข้า-ออกหน้าบ้านคนอื่น ผิดกฎหมายหรือไม่
วันนี้ (1ก.พ.65) กระทรวงยุติธรรม เสนอกฎหมายน่ารู้ ตอน : จอดรถกีดขวางทางเข้า-ออกหน้าบ้าน หรือไม่ขวางหน้าบ้านแต่ทำให้ผู้อื่นสัญจรไม่สะดวก ผิดกฎหมาย
ผู้ขับขี่รถยนต์ไม่มีสิทธิที่จะจอดรถขวางทางเข้า-ออกบ้านผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เอกชน หรือ ทางสาธารณะ เพราะถือเป็นความผิด ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 55 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่หยุดรถ
(1)ในช่องเดินรถ เว้นแต่หยุดชิดขอบทางด้านซ้ายของทางเดินรถในกรณีที่ไม่มีช่องเดินรถประจำทาง
(2) บนทางเท้า
(3) บนสะพานหรือในอุโมงค์
(4) ในทางร่วมทางแยก
(5) ในเขตที่มีเครื่องหมายจราจรห้ามหยุดรถ
(6) ตรงปากทางเข้าออกของอาคารหรือทางเดินรถ
(7) ในเขตปลอดภัย
(8) ในลักษณะกีดขวางการจราจร
นอกจากนี้ การกระทำให้ได้รับความเดือดร้อนรำคาญยังเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 397 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท และถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นการกระทำในที่สาธารณสถานหรือต่อหน้าธารกำนัล ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 397 วรรคสอง โดยผู้ที่ได้รับความเสียหายจากกรณีนี้ สามารถร้องทุกข์ดำเนินคดีได้
รวมทั้งสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายละเมิดในทางแพ่งได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และถ้าเป็นที่สาธารณะยังมีโทษตาม พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่สามารถออกใบสั่งและยกรถได้ ทั้งนี้ หากมีความเสียหายหรือทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ประชาชนมีสิทธิแจ้งความร้องทุกข์ด้วย
ส่วนกรณีที่มีเหตุจําเป็นเพื่อจะป้องกันสิทธิของตนหรือของบุคคลภายนอกจากภยันตรายอันมีมาโดยฉุกเฉิน ไม่สามารถขอความขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐได้ สามารถเคลื่อนย้ายรถด้วยกําลังได้ ถึงแม้จะเป็นการทำให้ทรัพย์นั้นบุบสลาย หรือทำลายทรัพย์นั้น โดยไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหาย หากว่าความเสียหายนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุ เพราะเป็นข้อยกเว้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 450
ข้อมูลจาก : พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 55 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 450
ข้อมูลจาก กระทรวงยุติธรรม
ภาพจาก กระทรวงยุติธรรม / AFP