รีเซต

'กรมชลประทาน' เผยฝนตกต่อเนื่องเป็นผลดีต่อเกษตรกร ลำตะคองและ 4 เขื่อนใหญ่ยังรับน้ำ

'กรมชลประทาน' เผยฝนตกต่อเนื่องเป็นผลดีต่อเกษตรกร ลำตะคองและ 4 เขื่อนใหญ่ยังรับน้ำ
มติชน
22 กันยายน 2565 ( 12:12 )
58

เมื่อวันที่ 22 กันยายน  นายนายสุคนธ์ เต็มยศยิ่ง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง กรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากสภาวะปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาทุกวันในช่วงนี้ถือว่าเป็นผลดีกับเกษตรกร ที่ทำนาปี และฝนที่ตกลงมามีปริมาณน้ำฝนไม่มากนัก กรมชลประทาน ซึ่งดูแลบริหารจัดการน้ำเขื่อนขนาดใหญ่ ในจังหวัดนครราชสีมา รวม 4 เขื่อน ประกอบด้วย เขื่อนลำตะคอง , เขื่อนลำมูลบน ,เขื่อนลำแซะและเขื่อนลำพะเพลิง , ก่อนไหลลงสู่ลำน้ำมูล

 

โดยเขื่อนลำตะคอง ที่รับน้ำจากอุทยานฯเขาใหญ่ เป็นเขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ เขื่อนสูง 40.3 เมตร สันเขื่อนยาว 527 เมตร กว้าง 10 เมตร อยู่ในพื้นที่ ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา มีพื้นที่เก็บกักน้ำในเขต ต.จันทึก อ.ปากช่อง เขื่อนสามารถเก็บกักน้ำได้ 314 ล้านลูกบาศก์เมตร ระดับน้ำ 277.00ม.(มทก) วันนี้น้ำในเขื่อนมี 240 ล้านลูกบาศก์เมตร เฉลี่ย 76 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนลำตะคอง ยังรับน้ำได้อีก มีพื้นที่เก็บน้ำเฉลี่ย 23,000ไร่ และปล่อยน้ำออกวันละ 1 ล้าน 2 แสน ลูกบาศก์เมตร เพื่อช่วยเกษตรกรปลูกข้าวนาปี 150,000 ไร่ ตั้งแต่ อ.สีคิ้ว อ. เฉลิมพระเกียรติ ถึงมาน้ำมูล

 

และเพื่อนำไปผลิตน้ำประปา อุปโภค บริโภค เก็บกักน้ำเอาไว้ใช้ช่วงหน้าแล้ง เป็นแหล่งน้ำดิบผลิตน้ำประปา อุปโภค บริโภค ให้กับประชาชนในพื้นที่เมืองนครราชสีมา การบริหารจัดการน้ำต้องวิเคราะห์ในแต่ละวัน ซึ่งก็ยังวางใจมากไม่ได้ต้องฟังพยากรณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา แต่ก็ไม่ได้ประมาทได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆพร้อมอุปกรณ์เครื่องมือบุคลากร เข้าช่วยเหลือประชาชนหากเกิดพายุน้ำท่วมขึ้นมาได้

 

ขณะที่ นายคณัสชนม์ ศรีเจริญ นายอำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา ในฐานะประธานศูนย์ ปภ.อำเภอปากช่อง กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมและป้องกันการเกิดภัยจากธรรมชาติ พายุฝน วาตภัย ร่วมกับนายคมกฤษณ์ ลิ้มปัญญาเลิศ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองปากช่อง เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

 

หลังกรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเตือนและคาดการณ์ว่าจะมีพายุไต้ฝุ่นจะรุนแรงในรอบ 70 ปี และประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบ และจะมีพายุฝนฟ้าคะนองอีกหลายลูก จนถึงเดือน พฤศจิกายน 2565 ในปีนี้ จึงมีความเตรียมพร้อมเพื่อเป็นการป้องกัน น้ำป่าไหลหลากลงมาจากบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งที่เคยทะลักเข้าท่วมหมู่บ้าน ชุมชนเมืองปากช่อง อย่างรวดเร็วมาแล้ว เมื่อ ปี 2563 ซึ่งอาจจะเกิดน้ำป่าทะลีกเข้าท่วมชุมชนขึ้นได้อีก  เพื่อความไม่ประมาท ให้ทุกพื้นที่เฝ้าระวัง เตรียมพร้อม บุคลากร อุปกรณ์เครื่องมือตลอดเวลา เพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชน หากมีพายุฝนตกหนักเกิดน้ำป่าลงมาจาก อุทยานฯเขาใหญ่ ได้ตลอดเวลา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง