เทียบสถานบันเทิงครบวงจรทั่วโลก เปลี่ยนการพนันขัดจริยธรรม สร้างเม็ดเงินมหาศาลได้แค่ไหน
ประเทศไทย ซึ่งมักถูกเรียกขานว่าเป็นเมืองพุทธ การนำเอาสิ่งที่ผิดกฎหมาย เช่น การพนันให้กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ก่อให้เกิดข้อถกเถียงในสังคม
ในช่วงที่เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังถดถอยลงเรื่อย ๆ การพึ่งพาการท่องเที่ยวจากธรรมชาติอย่างเดียว หรือ การดึงดูดเม็ดเงินแบบเดิม ๆ อาจไม่เพียงพออีกต่อไป หลายประเทศพยายามมองหาวิธีใหม่ ๆ ที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโต
การเลือกที่จะสร้างวิมานแห่งใหม่อย่าง “สถานบันเทิงครบวงจร” กลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในหลายรัฐบาล เพราะมีตัวอย่างจากหลายประเทศที่ใช้โมเดลนี้ สามารถดึงดูดเม็ดเงินให้กับประเทศได้อย่างมหาศาล และนำไปหมุนเวียนใช้จ่ายในภาคส่วนต่าง ๆ คืนประโยชน์ให้กับประชาชน
---สิงคโปร์ นำกาสิโนฟื้นเศรษฐกิจ---
เมื่อสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป หลายครั้งสิ่งที่เคยมองว่าผิดกฏหมาย อย่าง “กาสิโน” เมื่อถูกนำเข้ามาอยู่ในระบบ และจัดการอย่างถูกต้อง โปร่งใส กลับช่วยสร้างเม็ดเงินให้กับบางประเทศได้อย่างมหาศาล “ลี เซียน ลุง” นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ประกาศสนับสนุนการเปิดธุรกิจกาสิโนอย่างเต็มที่ เพื่อตอบรับการแข่งขันทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมที่แข่งดุเดือด หลังกาสิโนเป็นสิ่งต้องห้ามภายในประเทศมายาวนานถึง 40 ปี และมองว่า ขัดต่อศีลธรรม
สถานบันเทิงครบวงจรในสิงคโปร์ มีกฎหมายที่ว่าด้วยการจัดตั้งสถานบันเทิงครบวงจรและกาสิโน โดยมีข้อกำหนดต่าง ๆ รวมถึงเงื่อนไขในการอนุญาต การควบคุมและกำกับดูแล ตลอดจน มาตรการทางภาษี
สิงคโปร์มีหน่วยงาน Gambling Regulatory Authority of Singapore หรือ GRA ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลและออกใบอนุญาตให้ตั้งกาสิโนได้ ซึ่งจะออกได้ไม่เกิน 2 ใบอนุญาต (1 ใบอนุญาตต่อ 1 ผู้ประกอบการ), ออกมาตรการควบคุมการจ้างงาน ตลอดจนกำหนดวิธีการเล่นเกมส์ และกฎกติกาของเกมส์ที่จะใช้เล่นในกาสิโน
ทั้งนี้ มาตรการในการห้ามหรือจำกัดการเข้าเล่นกาสิโน มีการห้ามผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 21 ปี เข้าใช้บริการกาสิโน โดยพลเมืองสิงคโปร์หรือบุคคลที่มีที่พำนักในสิงคโปร์จะเข้าใช้บริการกาสิโนได้ ก็ต่อเมื่อได้ชำระค่าเข้าในอัตรา 100 ดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อ 24 ชั่วโมง หรือ 2,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับค่าเข้าใช้รายปี
เงินค่าธรรมเนียมที่เก็บได้ต้องนำส่งเข้า Singapore Totalizator Board หรือ กองทุนภาษีและค่าธรรมเนียมการพนัน เพื่อนำไปใช้จ่ายในกิจการเพื่อสังคม
ในการประกอบกิจการ กาสิโนต้องเสียภาษีให้แก่กรมสรรพากรสิงคโปร์ เป็นประจำทุกเดือน ในอัตรา 12% ของรายรับในแต่ละเดือนในส่วนผู้เล่นพรีเมี่ยม และ 22% ของรายรับในแต่ละเดือน สำหรับผู้เล่นอื่นธรรมดา
สถานบันเทิงครบวงจรในสิงคโปร์ สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญ ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้กว่า 3 แสนล้านบาท มีการจ้างงานสูงกว่า 2 แสนตำแหน่ง เพิ่มรายได้ให้กับภาคการท่องเที่ยวมากถึง 47% และสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อ GDP ประมาณ 2% คิดเป็น 2.4 แสนล้านบาท
ขณะเดียวกัน ก็มีการจัดตั้งสภาแก้ไขปัญหาการติดพนันแห่งชาติ หรือ NCPG โดยมีอำนาจหน้าที่ในการ ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณากรณีสมาชิกในครอบครัวของผู้ติดการพนันมีคำขอให้ออก คำสั่งห้ามหรือจำกัดบุคคลไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการพนัน (Family exclusion or visit limit)
---สหรัฐฯ กาสิโนที่มีประวัติยาวนาน---
หากพูดถึงกาสิโน แล้วไม่พูดถึงสหรัฐฯ คงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะมีประวัติสร้างธุรกิจการพนันมาอย่างยาวนาน และมีชื่อเสียงไปทั่วโลก โดยเฉพาะกับนครลาสเวกัส ที่เรียกได้ว่า หากพูดถึงเมืองนี้ ส่วนใหญ่จะนึกถึงกาสิโนเป็นอันดับแรกเสมอ
สำหรับสหรัฐฯ แล้ว กฎหมายเกี่ยวกับการเล่นพนัน มักขึ้นอยู่กับแต่ละรัฐ แต่โดยทั่วไปจะกำหนดไว้ว่า การพนันกีฬา และการพนันอื่น ๆ ในกาสิโน ผู้เล่นจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 21 ปี แต่ถ้าเป็นการพนันประเภทลอตเตอรี, กีฬาแฟนตาซีรายวัน (daily fantasy sports) และพนันม้าแข่ง จะอนุญาตให้ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปเล่นได้ ขณะที่ การพนันออนไลน์ในส่วนอายุของผู้เล่นนั้นจะขึ้นอยู่กับแต่ละรัฐ
โดยรวมแล้วอุตสาหกรรมสถานบันเทิงครบวงจรในสหรัฐฯ สามารถสร้างงานได้กว่า 1.8 ล้านตำแหน่ง สร้างรายได้ 3.29 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และสร้างรายได้ให้แรงงาน 1.04 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้ ยังเก็บภาษีให้รัฐบาลกลางสหรัฐและท้องถิ่นได้รวม 5.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และจากการสำรวจพบว่า ชาวอเมริกัน 9 ใน 10 หรือ 88% มองว่า การมีสถานบันเทิงครบวงจรเป็นสิ่งที่ยอมรับได้
โดยผู้ใหญ่ชาวอเมริกันราว 102 ล้านคน หรือ 41% ของจำนวนประชากรที่เข้ากาสิโน ทั้งเพื่อเข้าไปเล่นพนันหรือเพื่อรับความบันเทิงด้านอื่น และประชากรชาวอเมริกัน 71% ของชาวอเมริกันมองว่ากาสิโนหรืออุตสาหกรรม การพนัน สร้างผลบวกให้แก่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ
---มาเลเซีย ประเทศมุสลิมที่มีกาสิโนถูกกฎหมาย---
สำหรับมาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้านของไทย มีกาสิโนเพียงแห่งเดียวที่รัฐบาลอนุญาตให้เปิดแบบถูกต้องตามกฎหมาย นั่นคือ The Genting Highlands of Pahang โดยจะมีกฎระเบียบที่เข้มงวด ผู้เล่นต้องมีอายุ 21 ปีขึ้นไป และประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ากาสิโน หรือ เล่นการพนันในรูปแบบอื่น ๆ และชาวมาเลเซียจะต้องมีใบอนุญาตรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ตนเองสามารถเข้ากาสิโน และเล่นการพนันได้
ธุรกิจการพนันในมาเลเซียดำเนินการ บริหารโดยบริษัทเอกชน ภายใต้กฎหมายการพนัน 8 ฉบับ โดยช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 กาสิโนในมาเลเซีย สามารถสร้างรายได้สูงถึง 3.8 หมื่นล้านบาทต่อปี
ปัจจุบัน มาเลเซียไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการการพนันระดับชาติที่มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์การควบคุม หรือกำกับดูแลธุรกิจพนันในมาเลเซีย แต่กฎหมายการพนันทุกฉบับ จะบัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นรัฐมนตรีผู้มีอำนาจรักษาตามกฎหมาย และมีอำนาจหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลกิจการพนัน เช่น การออก กฎระเบียบว่าด้วยการออกใบอนุญาต
---ญี่ปุ่นจ่อเปิดกาสิโนแห่งแรกปี 2029---
อีกหนี่งประเทศที่น่าจับตา ก็คือ ญี่ปุ่น เพราะรัฐบาลเตรียมเปิดกาสิโนแห่งแรกอย่างถูกต้องตามกฎหมายในปี 2029 บนเนื้อที่กว่า 307 ไร่ ในโอซาก้า
รัฐบาลได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการตั้งสถานบันเทิงและกาสิโนออกมาทั้งหมด 2 ฉบับ ได้แก่
กฎหมาย Act on Promotion of Development of Specified Integrated Resort Districts ตราขึ้นเมื่อปี 2016 มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดหลักการพื้นฐานในการส่งเสริมนโยบายการพัฒนาพื้นที่สำหรับ จัดตั้งสถานบันเทิงครบวงจร
กฎหมาย Act on Development of Specified Integrated Resort Districts ตราขึ้นเมื่อปี 2018 เพื่อขยายความ ในหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของ Act on Promotion of Development of Specified Integrated Resort Districts
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นคาดว่า จะดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่า 20 ล้านคน และสร้างรายได้กว่า 5.2 แสนล้านเยน รัฐบาลญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า การสร้างสถานบันเทิงครบวงจร จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ สร้างรายได้ให้กับรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลางรวมกันกว่า 1 ล้านล้านเยนต่อปี และสร้างอาชีพให้กับประชาชนกว่า 1.5 หมื่นตำแหน่ง
ปัจจุบัน รัฐบาลญี่ปุ่นได้อนุมัติ แผนก่อสร้างสถานบันเทิงครบวงจร 3 แห่ง คือ เมืองโอซาก้า คาดว่าจะสร้างเสร็จ ในปี 2029 ส่วนเมืองนางาซากิจะสร้างเสร็จในปี 2030 และเมืองฟุกุโอกะ จะสร้างเสร็จในปี 2031
---สถานบันเทิงครบวงจรทั่วโลก มูลค่ารวมนับล้านล้านดอลลาร์---
ข้อมูลของสำนักงานคลังเศรษฐกิจ ระบุว่า ในปี 2022 ทั่วโลกมีมูลค่าสถานบันเทิงครบวงจรประมาณ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดว่าในปี 2028 อุตสาหกรรมนี้ จะเติบโตถึง 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภูมิภาคที่มีมูลค่าสูงสุดได้แก่ เอเชียแปซิฟิก อเมริกาเหนือ และยุโรป
ข้อมูลจาก Statista พบว่า ประเทศที่มีรายได้สูงสุดจากสถานบันเทิงครบวงจร 7 อันดับแรก ได้แก่
1.มาเก๊า 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
2.ลาสเวกัส 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
3.สิงคโปร์ 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
4.เกาหลีใต้ 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
5.ฟิลิปปินส์ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
6.เวียดนาม 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
7.อินโดนีเซีย 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์
ข้อมูลอ้างอิง: