รีเซต

เปิดเบื้องลึก! "ชูวิทย์" แพ้คดีกล่าวหา "เนวิน" ฮุบเขากระโดง

เปิดเบื้องลึก! "ชูวิทย์" แพ้คดีกล่าวหา "เนวิน" ฮุบเขากระโดง
TNN ช่อง16
17 กรกฎาคม 2568 ( 13:10 )
29
เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2568 ศาลจังหวัดบุรีรัมย์มีคำพิพากษาชี้ขาดหนึ่งในคดีสำคัญที่สั่นสะเทือนชื่อเสียงของ ตระกูลชิดชอบ โดยเฉพาะ เนวิน ชิดชอบ และ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ หลังจากที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เคยกล่าวหาอย่างเปิดเผยในช่วงเลือกตั้งปี 2566 ว่า ครอบครัวชิดชอบมีส่วนเกี่ยวข้องกับการ ทุจริตโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และ การฮุบที่ดินเขากระโดงกว่า 5,000 ไร่ ของการรถไฟฯ เพื่อใช้ประโยชน์ส่วนตัวทั้งที่ข้อเท็จจริงหนึ่งที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า พื้นที่ที่มีปัญหายืดเยื้อมานานกว่า 5,000 ไร่นั้น ตระกูลชิดชอบถือเพียงหลักร้อยไร่ ที่เหลือเป็นของชาวบ้านทั่วไปศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อกล่าวหาของชูวิทย์ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน และสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อชื่อเสียงของโจทก์ทั้งสอง จึงพิพากษาจำคุก 12 เดือน รับสารภาพลดเหลือ 6 เดือน และเปลี่ยนเป็นโทษปรับ 200,000 บาท เนื่องจากจำเลยอายุมากและมีโรคประจำตัว พร้อมสั่งให้ลงโฆษณาขอโทษในสื่อสิ่งพิมพ์ต่อเนื่อง 7 วัน และให้คำมั่นต่อศาลว่าจะไม่กล่าวหาครอบครัวชิดชอบอีกในทางกฎหมาย คำรับสารภาพของชูวิทย์ คือการยอมรับอย่างเป็นทางการว่าเรื่อ ‘ฮุบเขากระโดง’ ที่เคยพูดนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะข้อเท็จจริงคือ ยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบสิทธิ์ของราษฎรทั่วไป แต่เรื่องกลับไม่จบแค่นั้นแม้ชูวิทย์จะเพิ่งผ่านคดีนี้มาหมาด ๆ และให้คำมั่นว่าจะไม่กล่าวหาครอบครัวชิดชอบอีก แต่เพียงไม่กี่วันต่อมา ก็เกิดประเด็นใหม่ขึ้นอีกครั้ง เมื่อเจ้าตัวโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กพาดพิงถึง ‘แผนสมรู้ร่วมคิด’ ที่เชื่อมโยงไปถึงสมเด็จฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา และผลประโยชน์ของกาสิโน โดยมีชื่อของเนวินเข้ามาเกี่ยวข้องอีกครั้ง

โพสต์นี้สร้างความสับสนและแรงกดดันจนในที่สุด วันที่ 15 กรกฎาคม ชูวิทย์ต้องออกมาขอโทษอีกครั้ง ผ่านเฟซบุ๊ก หลังถูกเนวินฟ้องอีกรอบ ชูวิทย์ ยอมรับว่า ‘ไปไกลเกินไป’ และไม่เจตนาโยงเนวินหรือพรรคภูมิใจไทยเข้ากับเรื่องกาสิโนหรือฮุน เซน พร้อมประกาศลบโพสต์ต้นเรื่อง และขอบคุณที่เนวินเข้าใจและให้อภัย

แม้จะเป็นเพียงโพสต์ แต่ในทางสัญลักษณ์ มันสะท้อนความย้อนแย้งในตัวชูวิทย์ที่หลายคนตั้งคำถามเขาเพิ่งรับสารภาพในศาลว่าสิ่งที่เคยกล่าวหานั้นไม่เป็นความจริง และสัญญาว่าจะไม่ทำอีก แต่ก็กลับไปพาดพิงซ้ำในรูปแบบใหม่


คำขอโทษของเขาอาจจริงใจ และการให้อภัยของเนวินอาจเป็นการวางบทจบอย่างสันติในความขัดแย้งส่วนตัว 

แต่สำหรับสังคมไทย บทเรียนนี้สะท้อนชัดว่า ‘ข้อกล่าวหา’ โดยเฉพาะจากผู้มีพื้นที่สื่อ ต้องมีความรับผิดชอบพอ ๆ กับความกล้า เพราะเมื่อพูดแล้ว มันไม่เพียงทำร้ายคนอื่น แต่ยังย้อนกลับมาทำลายความน่าเชื่อถือของผู้พูดเองด้วย

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง