รีเซต

ลุย!บีทีเอส จ่อฟ้องกลับ รฟม.ล้มประมูลสายสีส้ม 1.28 แสนล้าน ทำให้เสียโอกาส

ลุย!บีทีเอส จ่อฟ้องกลับ รฟม.ล้มประมูลสายสีส้ม 1.28 แสนล้าน ทำให้เสียโอกาส
มติชน
5 กุมภาพันธ์ 2564 ( 14:43 )
35

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทรอหนังสือแจ้งยกเลิกการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วง “บางขุนนนท์-มีนบุรี” อย่างเป็นทางการจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

 

หลังจากคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 มีมติให้ยกเลิกเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564รอดูเหตุผลที่ยกเลิกว่าเพราะอะไร และจะใช้หลักเกณฑ์ไหนในการพิจารณาผู้ชนะประมูล ทั้งนี้บริษัทไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว

 

หาก รฟม.จะเปิดซองเทคนิกและข้อเสนอการเงินพร้อมกัน และนำคะแนนเทคนิก 30% พิจารณาร่วมพร้อมกับข้อเสนอการเงิน 70% ขอดูทีโออาร์ที่ รฟม.จะออกมาใหม่ เปิดกว้าง ให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมหรือไม่ ถ้าเปิดกว้าง เราพร้อมเข้าประมูล

 

อย่างไรก็ตาม ได้มอบให้ฝ่ายกฎหมายของบริษัทตรวจสอบว่าการล้มประมูลในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายให้แก่บริษัทหรือไม่ เนื่องจากเป็นการเสียโอกาสทางธุรกิจและเสียเวลา

 

รวมถึงดูว่าเป็นการดำเนินการที่ขัดกับข้อกฎหมาย และคดีที่มีการยื่นอุทธรณ์ต่อกันเรื่องการเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลใหม่ที่ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวบีทีเอส ให้ รฟม.กลับไปใช้เกณฑ์เดิมประมูล คือเปิดพิจารณาทีละซอง ด้านคุณสมบัติ เทคนิค

 

การเงินและข้อเสนออื่น ๆ เพิ่มเติม แต่ รฟม.ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองกลาง มีการไต่สวนเสร็จแล้ว เหลือเพียงรอศาลนัดฟังคำวินิจฉัย แต่คณะกรรมการคัดเลือกได้ยกเลิกประมูลก่อน

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ทาง รฟม.เปิดให้เอกชนร่วมทุน PPP net cost 30 ปี

 

เงินลงทุน 128,128 ล้านบาท ก่อสร้างช่วงตะวันตก “บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ” กับจัดหาระบบ ขบวนรถไฟฟ้า แลกกับการรับสัมปทานเดินรถตลอดสาย โดย รฟม.ออกค่าเวนคืน 14,621 ล้านบาท สนับสนุนเงินลงทุนไม่เกินค่างานโยธา 96,012 ล้านบาท

 

โดยเปิดยื่นซองเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2563 มีผู้ยื่นข้อเสนอ 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และ 2.กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture)

 

ประกอบด้วย บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น โดยทั้ง 2 กลุ่ม ยื่นข้อเสนอ 4 ซอง ได้แก่ คุณสมบัติ เทคนิก การเงิน และข้อเสนออื่น ๆ เพิ่มเติม

 

ปัจจุบัน รฟม.กำลังก่อสร้างช่างศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี มีความคืบหน้างานก่อสร้างกว่า 74% ตามแผนจะเปิดบริการในปี 2567 ส่วนช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม จะเปิดบริการในปี 2569

ที่มาประชาชาติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง