แห่ชม 'น้ำโซดา' ตั้งแผงขายของคึกคัก แม้ห้ามชิม กำนันเผย เหมือนถูกรางวัลที่ 1
ความคืบหน้ากรณี นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล มอบหมายให้ นายเกรียงศักดิ์ ภิระไร ผู้อำนวยการสำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล น.ส.อัคปศร อัคราช ผู้อำนวยการส่วนวิจัยและพัฒนางานสำรวจน้ำบาดาล พร้อมทีมงานลงพื้นที่สำรวจพื้นที่เจาะบ่อน้ำบาดาลเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ ต.ห้วยกระเจา อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี ที่มีอยู่ ทั้งหมด 21 หมู่บ้าน โดย อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าในการสำรวจพื้นที่ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง
ในที่สุดสามารถเจาะบาดาลในพื้นที่หมู่ 12 บ้านพะยอมงาม ได้ จำนวน 4 บ่อ ปริมาณน้ำที่พัฒนาได้ จำนวน 52 ลบ.ม./ชม. และที่ หมู่ 19 บ้านทุ่งคูณ อีกจำนวน 2 บ่อ ปริมาณน้ำที่พัฒนาได้ 66 ลบ.ม./ชม.คิดปริมาตรรวม 1,700,000 กว่า ลบ.ม./ปี ประชากรจะได้รับประโยชน์ จำนวน15 หมู่บ้าน 7,000 กว่าครัวเรือน พื้นที่เกษตร 6,000 ไร่ แต่ที่สร้างความฮือฮาให้กับคนไทยทั้งประเทศก็คือรสชาติของน้ำซ่าคล้ายโซดา ซึ่งถือว่าเป็นบ่อบาดาลแห่งแรกของประเทศไทย
ล่าสุดวันนี้ 13 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวได้เดินทางลงพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง เมื่อไปถึงปรากฏพบ ประชาชนทยอยเดินทางมาชมบาดาลโซดาที่น้ำกำลังพุพุ่งสูงขึ้นไปร่วม 10 เมตร บางรายถ่ายเซลฟี่เอาไว้เพื่อที่ระลึก บางรายต้องการทดลองดื่มน้ำเพื่อพิสูจน์ว่ามีรสชาติคล้ายโซดาจริงหรือไม่ แต่ก็ต้องผิดหวัง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาต เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อร่างกาย
โดยทางเทศบาลตำบลห้วยกระเจา ได้นำเชือกมาขึงกั้นบ่อเอาไว้ พร้อมกับนำป้ายประกาศเตือนมาติดตั้งเอาไว้ด้วย โดยระบุว่า “ห้ามดื่มน้ำแร่โซดา เนื่องจากอยู่ระหว่างการทดสอบคุณภาพน้ำ”
นายภัชรพล สืบดา กำนันตำบลห้วยกระเจา อ.ห้วยกระเจา กล่าวว่า ตำบลห้วยกระเจา เป็นพื้นที่ที่แห้งแล้งที่สุด จนได้รับฉายาว่าเป็นภาคอีสานของจังหวัดกาญจนบุรี การที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล โดย นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ มาขุดเจาะครั้งนี้เหมือนชาวบ้านถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 สำหรับน้ำบาดาลหากทำโครงการได้สำเร็จจะสามารถช่วยเกษตรกรได้มากถึง 10 หมู่บ้าน ที่มีประชากร 4,000-5,000 คน พื้นที่การเกษตรที่จริงมีประมาณกว่า 1 แสนไร่ แต่พื้นที่โซนนี้มีประมาณ 5 หมื่นไร่ น้ำที่ได้มาจากการอุปโภคบริโภค สามารถนำไปใช้ด้านการเกษตรได้
“อยากจะฝากไปถึงท่านอธิบดี ช่วยให้โครงการนี้สำเร็จให้ได้ ไม่ว่าจะมีปัญหาเรื่องที่ดินหรือกรณีข้อพิพาทที่อาจะเกิด เพราะตนกลัวว่าจะเกิดขึ้น แต่ไม่อยากให้เกิด แต่อยากจะให้หาทางออกร่วมกัน ตั้งพื้นที่แห่งนี้ เป็นที่จ่ายน้ำให้ได้ แล้วมาใช้น้ำร่วมกันทั้งสองเขตคือเขตตำบลบ่อพลอยและเขตตำบลห้วยกระเจา เพราะว่าพื้นที่บริเวณนี้มีความเหมาะสม ซึ่งคนในเขตพื้นที่ตำบลบ่อพลอย ส่วนมากก็เป็นคนห้วยกระเจา”
นายภัชรพล กล่าวอีกว่า แต่ปัญหาที่ตนวิตกกังวลคือ เรื่องระเบียบระบบข้าราชการ เพราะหากอยู่นอกเขตพื้นที่ของตำบลห้วยกระเจา จะทำให้ตั้งโรงส่งน้ำไม่ได้ และดูแลไม่ได้ ก็จะเกิดเป็นข้อพิพาท เนื่องจากตำบลห้วยกระเจาเมื่อก่อนอยู่ในเขตพระราชกฤษฎีกา 2481 จึงเกิดข้อพิพาทในเรื่องของเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน
โดยได้ต่อสู้กันมานาน 4-5 ชั่วอายุคน แต่ภาษากฎหมายก็ไม่สามารถทำอะไรได้เต็มที่ และมาวันนี้เมื่อชาวบ้านได้น้ำมาใช้ แต่กลับต้องมาเจอปัญหาเรื่องพระราชกฤษฎีกาอีก ต้องมาแย่งพื้นที่กันอีก ดังนั้นจึงอยากให้หาทางออกร่วมกัน ด้วยการตั้งโครงการนี้ให้ได้ที่ตรงจุดนี้ เพราะว่าพื้นที่ตรงนี้คือจุดที่เหมาะสมที่สุดแล้ว สายไฟฟ้าก็ไม่ต้องขยาย ที่ดินเจ้าของก็อุทิศให้ หากทำสำเร็จก็กระจายน้ำได้เลย ดังนั้นก็อยากให้ช่วยบูรณาการร่วมกัน
สำหรับจุดเริ่มต้นของข้อพิพาทในการแย่งสิทธิ์นั้น คือ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรชาวตำบลห้วยกระเจา เพราะเป็นพื้นที่ที่แห้งแล้งที่สุดจนได้รับฉายาว่าเป็นอีสานของจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่สำรวจว่าพื้นที่หมู่บ้านไหนมีแหล่งน้ำที่สามารถขุดเจาะบาดาลได้บ้าง ก็ออกสำรวจพื้นที่กันมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมาเจอตาน้ำบาดาลในที่แห่งนี้ ซึ่งตาน้ำที่พบเราไม่สามารถที่จะขยับไปที่อื่นได้ แต่เมื่อทางอำเภอบ่อพลอยเข้ามามีข้อพิพาทแย่งพื้นที่ ตนจึงไม่เห็นด้วย แต่สิ่งที่ดีที่สุดจะต้องมาพูดคุยกัน แล้วทำไปด้วยกันใช้น้ำร่วมกัน จึงจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
ด้าน นายชลพรรษา บุญซื่อ นักวิชาการทรัพยาธรณีชำนาญการ สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 ( สุพรรณบุรี) กล่าวว่า พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ที่มีความแห้งแล้ง และเราได้รับการร้องขอจากชาวบ้านในพื้นที่ว่าอยากได้ระบบน้ำบาดาล ท่านอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนลงพื้นที่สำรวจเพื่อหาแหล่งน้ำบาดาลแล้วเริ่มลงมือเจาะ
บ่อแรกที่เราเจาะปรากฏยังไม่พบน้ำพุแต่เจอปริมาณน้ำอยู่ที่ประมาณ 30 ลูกบาศก์เมตร สำหรับบ่อที่สองปรากฏเจอน้ำพุ ซึ่งบ่อนี้เราเจาะลึกลงไปถึง 303 เมตร เจอน้ำประมาณ 30-40 ลูกบาศก์เมตร โดยน้ำพุขึ้นมาครั้งแรกสูงประมาณ 1 เมตรกว่า
จากนั้นเราได้เจาะบ่อเพิ่มอีกหนึ่งบ่อเป็นบ่อที่ 3 ซึ่งก็เจอน้ำพุเช่นกันโดยน้ำพุพุ่งสูงขึ้นมาประมาณ 3 เมตร มีปริมาณน้ำมากถึง 50 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ทำการติดตั้งวาล์วเพื่อปิดปากบ่อเอาไว้ แล้วรีดปากบ่อจาก 6 นิ้ว ให้เหลือประมาณ 3 นิ้ว จึงทำให้น้ำพุพุ่งสูงขึ้นมามากกว่าเดิมตามที่ปรากฏให้เห็น