รีเซต

ไทย ดัน "น้ำบาดาล" เป็นวาระสำคัญระดับอาเซียนรับวิกฤตโลกรวน

ไทย ดัน "น้ำบาดาล" เป็นวาระสำคัญระดับอาเซียนรับวิกฤตโลกรวน
TNN ช่อง16
19 พฤษภาคม 2568 ( 15:43 )
9

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดย กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จัดการประชุมระหว่างประเทศ เรื่อง "การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลในภูมิภาคอาเซียน" ภายใต้หัวข้อ "Regional Meeting on ASEAN Groundwater Resources Management" ระหว่างวันที่ 19 – 20 พฤษภาคม 2568 โดยมีนายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดการประชุม 

นายนราพัฒน์ แก้วทอง กล่าวว่า น้ำบาดาลเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในหลายประเทศอาเชียน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำผิวดินหรือระบบประปายังไม่ครอบคลุม /น้ำบาดาลจึงเป็นแหล่งน้ำหลักที่ประชาชนพัฒนาขึ้นมาใช้ประโยชน์เพื่อการอุปโภคบริโภค เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม อีกทั้งลักษณะบาดาลที่สามารถไหลข้ามพรมแดน ทำให้การบริหารจัดการต้องอาศัยความร่วมมือใน / โดยไทยมีความพร้อมทั้งในด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยี และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ สามารถต่อยอดความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ / ในขณะเดียวกันยังพร้อมที่จะเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีจากเพื่อนสมาชิก เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในบริบทอย่างเหมาะสม เพื่อให้ทุกประเทศสามารถปรับตัว และรับมือกับวิกฤตน้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

พร้อมยังกล่าวถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ส่งผลกระทบกับชั้นน้ำใต้ดินด้วยว่า ปัจจุบันไทยมีหน่วยงานด้านอุทกวิทยาคอยประเมินการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อให้ทราบถึงผลกระทบต่อคุณภาพของน้ำ โดยยืนยันว่าเหตุแผ่นดินไหวยังไม่กระทบกับชั้นน้ำใต้ดินของบ้านเรา แต่ความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง คือ ดินทรุดจากการสูบน้ำใต้ดินมาใช้มากเกินไป ซึ่งปัจจุบันกรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีมาตรการควบคุมการอุปโภคบริโภค เพื่อให้เกิดการใช้น้ำบาดาลอย่างเหมาะสม   

ด้านนายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาลของไทย มีความเชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา อุทกธรณีวิทยา วิศวกรรม และการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการ บริหารจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำบาดาล พร้อมทั้งมีกฎหมายที่สำคัญ เช่น พระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งกฎหมายดังกล่าวหลายประเทศในอาเซียนยังไม่มีการประกาศใช้ ถือเป็นกลไกสำคัญในการกำกับควบคุมการใช้น้ำบาดาลอย่างยั่งยืน สะท้อนถึงศักยภาพของไทยในการเป็นผู้นำด้านการบริหารจัดการน้ำบาดาลในภูมิภาค 


การประชุมครั้งนี้ ทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาลนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีและเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลของไทยต่อการสำรวจ พัฒนา อนุรักษ์ และการควบคุมกิจการน้ำบาดาล ตลอดจนกิจกรรม วันที่ 21 พฤษภาคม 2568 ณ อ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16 จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบการปนเปื้อนของสารเคมีแพร่กระจายลงสู่ชั้นใต้ดินและน้ำใต้ดิน โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ดำเนินโครงการศึกษาแนวทางฟื้นฟูแหล่งน้ำใต้ดินที่ปนเปื้อนกากของเสียอุตสาหกรรมในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาและป้องกันการแพร่กระจายของสารปนเปื้อน พื้นที่แห่งนี้จะเป็นกรณีศึกษาให้กับประเทศในภูมิภาคอาเชียนเนื่องจากปัญหาการปนปื้อนของน้ำใต้ดินก็เป็นปัญหาที่หลายๆ ประเทศที่เผชิญอยู่เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอผลงานด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาล จาก กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้แก่ ภาพรวมสถานการณ์น้ำบาดาลของไทย การติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำบาดาล การสำรวจแหล่งน้ำใต้ดินที่ปนเปื้อนกากของเสียอุตสาหกรรมและภารกิจของกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล พร้อมหน่วยงานประเทศสมาชิกอาเซียน อาทิ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งญี่ปุ่น (GSJ) 

สำหรับผลจากการประชุมครั้งนี้ จะได้รับการนำเสนอในการประชุมคณะทำงานอาเซียนด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ (AWGWRM) การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (ASOEN) และการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (AMME) ในวันที่ 4 มิถุนายน 2568 ณ ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อผลักดันให้ประเด็นเรื่องน้ำบาดาล ได้รับการกล่าวถึงมากขึ้นในกรอบความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมของอาเซียน และสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 6 ด้านน้ำสะอาดและสุขอนามัย เพื่อรับมือกับวิกฤตน้ำและความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง