รีเซต

GISTDA เปิดข้อมูลดาวเทียม “อ่างห้วยเชียงคำขาด” เสียหาย 12,800 ไร่

GISTDA เปิดข้อมูลดาวเทียม “อ่างห้วยเชียงคำขาด” เสียหาย 12,800 ไร่
TNN ช่อง16
18 กรกฎาคม 2567 ( 09:04 )
22
GISTDA เปิดข้อมูลดาวเทียม “อ่างห้วยเชียงคำขาด” เสียหาย 12,800 ไร่

วันนี้ ( 18 ก.ค. 67 )สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA เผยแพร่ข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมจากภาพถ่ายดาวเทียม Cosmo SkyMed - 2 บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม ของวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 เวลา 17.50 น. ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพื้นที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์อ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำแตก โดยพบพื้นที่เสียหายรวมกว่า 12,800 ไร่ 


 GISTDA จะส่งต่อข้อมูลให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้องนำไปใช้สนับสนุนการบริหารจัดการ การวางแผน การติดตาม การประเมินสถานการณ์ และการฟื้นฟูความเสียหายต่อไป พร้อมกันนี้ GISTDA ยังวางแผนและปรับแผนรับสัญญาณดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง และสามารถตรวจสอบพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มเติมต่อไป


ขณะที่ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช. ) เปิดเผยระหว่างการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีพื้นที่ประสบอุทกภัย 9 จังหวัด 


ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพะเยา เลย ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี ชลบุรี และเพชรบุรี สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่อีก 2 จังหวัด คือ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งประสบปัญหาฝนตกหนักในระยะเวลาอันสั้นส่งผลให้น้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร และจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำเป็นจำนวนมากจากฝนตกหนักจนเกินความจุอ่าง ส่งผลให้ทำนบดินชั่วคราวขาด บริเวณแนวก่อสร้างทำนบดินชั่วคราวเพื่อปรับปรุงอาคารระบายน้ำล้น (Spillway) ทำให้เกิดน้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรริมลำห้วยที่ระบายน้ำด้านท้ายอ่างฯ ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่แล้ว 


นอกจากนี้ สทนช. ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาและ สสน. ได้คาดการณ์ สภาพอากาศในช่วงสัปดาห์นี้ พบว่า ในวันที่ 18 - 19 ก.ค. 67 ประเทศไทยยังคงได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้มีฝนตกมากในพื้นที่ภาคตะวันออก บริเวณจังหวัดตราด และจันทบุรี ภาคเหนือตอนล่าง บริเวณจังหวัดเพชรบูรณ์ และพิษณุโลก รวมถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่ชายขอบ ก่อนที่ปริมาณฝนจะลดลง และจะกลับมามีฝนเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายเดือน ก.ค. 67 จากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงซึ่งอยู่ทางตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งกำลังพัฒนาตัว แต่มีแนวโน้มว่าจะเคลื่อนที่ไปทางประเทศไต้หวันและประเทศญี่ปุ่น 


อย่างไรก็ตาม จะมีผลทำให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ซึ่งจะมีการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก รวมถึงการเฝ้าระวังสถานการณ์ดินโคลนถล่ม เนื่องจากปัจจุบันมีค่าความชื้นในดินสูง 


ข้อมูลจาก: สนทช. , GISTDA

ภาพจากGISTDA


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง