รีเซต

สถิติโลกใหม่! "ฟ้าผ่า" ครั้งเดียวไกลเกือบ 770 กิโลเมตร

สถิติโลกใหม่! "ฟ้าผ่า" ครั้งเดียวไกลเกือบ 770 กิโลเมตร
TNN ช่อง16
1 กุมภาพันธ์ 2565 ( 19:06 )
223

วันนี้( 1 ก.พ.65) องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ของสหประชาชาติเผยว่า พบปรากฏการณ์สายฟ้าฟาด ที่สามารถวัดความยาวของฟ้าผ่าเพียงครั้งเดียว หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘เมกะแฟลช’ (megaflash) บนท้องฟ้าได้เป็นระยะทาง 768 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นสถิติโลกครั้งใหม่ ในพื้นที่ทางตอนใต้ของสหรัฐเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 

โดยพาดผ่านท้องฟ้าในรัฐมิสซิสซิปปี ลุยเซียนา และเทกซัส หรือเทียบเท่าระยะทางจากนครนิวยอร์ก ไปยังเมืองโคลัมบัสในรัฐโอไฮโอ หรือ ระหว่างกรุงลอนดอน เมืองหลวงของสหราชอาณาจักร กับเมืองฮัมบัวร์ก ทางตอนเหนือของเยอรมนี

ทั้งนี้ เมกะแฟลชในสหรัฐได้ทำลายสถิติโลกเดิม ที่เคยวัดได้ ที่เมืองเซาเปาลูของบราซิล เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2561 ประมาณ 60 กิโลเมตร

ขณะเดียวกัน WMO ยังประกาศสถิติโลกครั้งใหม่ ของการเกิดฟ้าผ่าเป็นเวลานานที่สุด เกิดขึ้นในเขตระหว่างอุรุกวัยกับภาคเหนือของอาร์เจนตินา เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2563 เป็นเวลานาน 17.1 วินาที ทำลายสถิติฟ้าผ่าเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2562 ในภูมิภาคทางเหนือของอาร์เจนตินา ซึ่งดับเบิลยูเอ็มโอวัดระยะเวลาได้ 16.73 วินาที


องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกได้เน้นย้ำว่า เมกะแฟลชที่ทำสถิติโลกครั้งใหม่นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงลำพังอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นในขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนองรุนแรง ซึ่งอาจส่งผลอันตรายที่คร่าชีวิตของมนุษย์เป็นประจำทุกปี

ปกติแล้วการเกิดเมฆฝน จะเกิดประจุไฟฟ้าในก้อนเมฆ โดยจะเกิดเป็นประจุบวก(+) ประจุลบ(-) โดยประจุบวกจะลอยไปอยู่บนยอดเมฆ ส่วนประจุลบจะมาอยู่ตรงฐานของเมฆ เมื่อสะสมประจุไฟฟ้ามากๆ จะเกิดการถ่ายเทพลังงานไฟฟ้าระหว่าง ประจุบวกกับลบ ทำให้เกิดเป็นฟ้าผ่า ถ้าถ่ายเทพลังงานไฟฟ้าระหว่างยอดเมฆและฐานของเมฆ เมื่อเกิดฟ้าผ่าจะไม่มีอันตราย เพราะเกิดขึ้นในอากาศ แต่เราจะได้ยินเสียงดังมากๆ ในพื้นดินของเราไม่ว่าจะเป็น ต้นไม้ คน สัตว์ ตึกสูง บางครั้งจะกลายเป็นประจุบวก (+) นั่นคือ มีโอกาศที่จะมีการถ่ายเทพลังงานไฟฟ้าจากประจุลบ (-) ที่ฐานของเมฆลงมาสู่พื้นดินได้ ทำให้ฟ้าผ่าลักษณะนี้อันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนพื้นดิน

ด้านนักวิจัยอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เห็นข่าวฟ้าผ่าบ่อยขึ้นในหลายประเทศ สาเหตุนี้เกี่ยวข้องกับอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น (Global Warming) ซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มขึ้น ของการเกิดฟ้าผ่าไปทั่วโลก  

จากรายงานของนาซ่า (NASA) ได้เปิดเผยว่าอุณหภูมิโลกของเราได้สูงขึ้นจากปี 2010 ที่ 0.5 องศาเซลเซียส เป็น 1 องศาเซลเซียสในปี 2020  

ทั้งนี้ ถ้าถามว่าโลกอุณหภูมิสูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส รุนแรงขนาดไหนนั้น ลองจินตนาการถึงตอนที่เราป่วย โดยอุณหภูมิปกติของเราจะอยู่ที่ 36-37 องศาเซลเซียส ถ้าเราอุณหภูมิสูงขึ้น 1 องศา ก็ถือว่าเราป่วยแล้ว โลกเราก็เช่นกัน นั่นเป็นสาเหตุที่ต้องมีข้อตกลงปารีสที่มีเกือบ 200 ประเทศทั่วโลก ทำข้อตกลงกันเพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกของเราสูงเกิน 2 องศาเซลเซียส หรือถ้าเป็นไปได้จะทำให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ดังนั้นปัญหาภาวะโลกร้อน จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดฟ้าฝ่าบ่อยขึ้นเวลาที่ฝนตก






ภาพจาก TNN ข่าวค่ำ

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง