รีเซต

เมื่อความงามกำหนดชะตาคุณได้ เหตุไฉน ‘บิวตี้สแตนดาร์ด’ ถึงสำคัญในเกาหลีใต้ อิทธิพลความงามที่ขยายสู่สังคมไทย

เมื่อความงามกำหนดชะตาคุณได้ เหตุไฉน ‘บิวตี้สแตนดาร์ด’ ถึงสำคัญในเกาหลีใต้ อิทธิพลความงามที่ขยายสู่สังคมไทย
TNN ช่อง16
22 มีนาคม 2567 ( 01:22 )
47
เมื่อความงามกำหนดชะตาคุณได้ เหตุไฉน ‘บิวตี้สแตนดาร์ด’ ถึงสำคัญในเกาหลีใต้ อิทธิพลความงามที่ขยายสู่สังคมไทย

หนึ่งในคำวิจารณ์จากชาวเน็ตเกาหลีใต้และไทย ถกเถียงกันอย่างหนักในโซเชียลมีเดีย นั่นคือ รูปร่างหน้าตาของ ‘รยู จุนยอล’ ที่ถูกมองว่า ไม่เป็นไปตาม “มาตรฐานความงาม” ของสังคม จนมองข้ามความสามารถ และตัวตนที่แท้จริงของเขาไป 


แม้ว่าโลกจะตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจาก “มาตรฐานความงาม” มากเพียงใด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบัน หลายประเทศ หลายวัฒนธรรม ยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อยู่ โดยเฉพาะเกาหลีใต้ ที่ความงามสามารถกำหนดชะตาของคุณได้ ว่าคุณจะมีชีวิตที่ดีขึ้น หรือ แย่ลง 


—มาตรฐานความงามที่สูงเสียดฟ้า—


ในเกาหลีใต้ มาตรฐานความงามที่สูงเสียดฟ้าไม่ได้กำหนดอยู่แค่เฉพาะในหมู่คนดัง หรือ คนร่ำรวยเท่านั้น แต่กับคนธรรมดาทั่วไป ไม่ว่าจะเพศไหน หรืออายุเท่าไหร่ ก็ต้องพยายามทำตนเองให้อยู่ภายใต้มาตรฐานความงามที่สังคมกำหนดไว้ 


Korean Times อ้างอิงผลสำรวจของ Gallup Korea ปี 2020 ระบุว่า 9 ใน 10 ของคนเกาหลีบอกว่า “รูปลักษณ์เป็นสิ่งที่สำคัญในชีวิต” ขณะที่ ผลสำรวจของ Career เผยว่า ผู้สมัครงานในเกาหลีใต้ 4 ใน 10 คน เคยเผชิญกับการเลือกปฏิบัติจากรูปลักษณ์ภายนอกในระหว่างที่กำลังหางาน 


นอกจากนี้ ปี 2023 มากกว่า 1 ใน 3 ของพนักงานหญิง ระบุว่า พวกเธอเคยถูกเพื่อนร่วมงาน หรือ หัวหน้า วิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องรูปร่างหน้าตาของพวกเธอในทางที่ไม่เหมาะสม และมีผู้หญิงจำนวนมากที่ต้องระบุน้ำหนัก ส่วนสูง ไซส์ของหุ่นตัวเองในใบสมัครงาน แม้ว่าเธอจะสมัครงานตำแหน่งพนักงานออฟฟิศธรรมดา ๆ เท่านั้น


—ความงามกับเศรษฐกิจ—


แม้ว่าคนส่วนใหญ่มักจะชอบพูดประโยคที่ว่า “Don’t judge a book by its cover” หรือ อย่าตัดสินคนที่รูปลักษณ์ภายนอกของพวกเขา แต่การเลือกปฏิบัติตามมาตรฐานความงามเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในทุกที่ทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย และมันจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น เมื่อพูดถึงสังคมเกาหลีใต้ 


ในประเทศที่การแข่งขันสูง ความงามจึงมีบทบาทสำคัญ ผู้คนเกาหลีใต้มักถูกย้ำเตือนบ่อยครั้งว่า “ความประทับใจแรกคือสิ่งสำคัญ” ซึ่งความประทับใจนั้น รวมไปถึงรูปร่างหน้าตา เสื้อผ้า และทรงผม ที่ความงามเหล่านี้มีความสำคัญมากพอกับอายุ เพศ ตลอดจนความมั่งคั่ง และยังสามารถกำหนดชีวิต หน้าที่การงาน และความสำเร็จของคุณได้ 


การให้ความสนใจไปที่เรื่องความงาม เพื่อเป็นต้นทุนทางสังคมและวัฒนธรรมอันในเกาหลีใต้นี้เรียกว่า ‘Lookism’ (ลุกคิซึม)


สำหรับบางคนมองว่า ‘Lookism’ และการโฟกัสไปที่ความงามนั้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นวิธีในการปรับปรุงและพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น โดยมีต้นกำเนิดมาจากแนวคิดของลัทธิขงจื้อ 


นอกจากนี้ แนวคิดดั้งเดิมของเกาหลีอย่าง ‘กวานซัง’ มีความเชื่อว่า คุณสามารถทำนายโชคชะตาของใครสักคนได้ โดยดูได้เพียงจากใบหน้า รูปลักษณ์ภายนอกคือ ทุกสิ่งทุกอย่าง และสามารถเผยให้เห็นถึงชะตาของเรา 


ทั้งนี้ มีเรื่องเล่ามากมายว่า บริษัทในเกาหลีใต้บางแห่งถึงขั้นเชิญผู้เชี่ยวชาญเรื่องดวงชะตาเข้ามาในระหว่างสัมภาษณ์งาน เพื่อพิจารณารูปหน้าของผู้สัมภาษณ์อย่างเดียวว่า บุคคลนั้นจะสามารถนำความสำเร็จมาสู่บริษัทได้หรือไม่ 

 

—ศัลยกรรมยกระดับชีวิต—


นักวิจัย เผยว่า ความน่าดึงดูดทางกายภาพของแต่ละบุคคลมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับคุณภาพของประสบการณ์ทางสังคมของพวกเขา “ยิ่งคุณสวยมากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งมีความได้เปรียบในชีวิตมากขึ้น” แต่จะเกิดอะไรขึ้น “ถ้าหากคุณไม่สวย?” 


การที่คุณสวยน้อยกว่า หรือ มีหน้าตาที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานความงาม จะทำให้คุณมีแนวโน้มถูกเลือกปฏิบัติมากขึ้น ผลการศึกษาหลายที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อผู้คนเผชิญกับการเลือกปฏิบัติจากรูปลักษณ์ภายนอก สิ่งนี้สามารถส่งผลลบต่อสุขภาพทางจิตใจสูงมาก และอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้


ทั้งนี้ ชาวเกาหลีใต้บางส่วนมองว่า แนวคิด ‘Lookism’ เป็นปัญหาที่แพร่หลายมากขึ้นในปัจจุบัน อันเป็นผลมาจากแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ตลาดแรงงาน และอิทธิพลของอุตสาหกรรมบันเทิง ฉะนั้น การทำศัลยกรรมจึงกลายเป็นจุดแข็งของเกาหลีใต้ที่จะช่วยทำให้คุณดูดีขึ้นได้ สร้างความประทับใจแรกได้ดี และแสดงให้เห็นว่า คุณใส่ใจต่อสายตาของสาธารณชนมากแค่ไหน 


ด้วยเหตุผลนี้ ความงามจึงกลายเป็นตัวแทนของคุณสมบัติ หรือ ประสบการณ์การทำงาน แทนที่ผู้คนจะใช้จ่ายเงินไปกับการฝึกอบรม เพื่อเพิ่มทักษะการทำงาน แต่กลายเป็นว่า พวกเขาเลือกที่จะใช้เงินไปกับเครื่องสำอาง หรือ ศัลยกรรมเพื่อช่วยให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น และยกระดับสถานะทางสังคม โดยพวกเขาทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่ใช่เพื่อตัวเขาเอง แต่เพื่อเป็นไปตามมาตรฐานที่สังคมคาดหวังมากกว่า


—ความงามแบบเกาหลีขยายสู่สังคมไทย—


จากดุษฎีนิพนธ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2018 “สวยสั่งได้: ผู้หญิงไทยกับศัลยกรรมความงามแบบเกาหลี” เขียนโดย วิสาขา เทียมลม ระบุไว้ว่า การแพร่กระจายของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมความงามแบบเกาหลีเข้าสู่สังคมไทย เกิดจากการเผยแพร่อุตสาหกรรมวัฒนธรรมข้ามพรมแดน ซึ่งเป็นผลมาจากยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ภายหลังเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 1997 ด้วยการเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และวัฒนธรรม


อ่าน “สวยสั่งได้: ผู้หญิงไทยกับศัลยกรรมความงามแบบเกาหลี” เวอร์ชันเต็ม: https://cis.tu.ac.th/uploads/ci/academic-work/phd-thesis/61visakha.pdf


ผลพวงจากการดำเนินนโยบายดังกล่าว โดยเฉพาะในเรื่องของวัฒนธรรม ทำให้เกิดกระแส ‘เกาหลีฟีเวอร์’ ขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ตามมาด้วยการสร้างภาพลักษณ์ความงามเกาหลีตามแบบฉบับพระเอก นางเอกในซีรีส์ หรือนักร้องวง K-Pop ก็ค่อย ๆ ครอบงำเข้ามาในสังคมไทยแบบไม่รู้ตัว 


“ผู้หญิงไทยชื่นชอบความงามแบบ เกาหลีของดาราในละครซีรี่ย์หรือนักร้องเกาหลีและให้เป็นต้นแบบความงาม เป็นความงามที่มาจาก การทำศัลยกรรม และกลายเป็นความงามในอุดมคติที่พึงปรารถนา เพราะมีคุณลักษณะเฉพาะอย่าง ได้แก่ รูปหน้า V-Line ตาสองชั้น จมูกเรียวเล็ก เป็นต้น จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ที่ผู้หญิงไทยเดินทาง ไปทำศัลยกรรมความงามที่เกาหลีใต้” ข้อความส่วนหนึ่งจากดุษฎีนิพนธ์ดังกล่าว 


แม้หญิงไทยจะมีความชื่นชอบในเรื่องรูปลักษณ์ตามแบบฉบับเกาหลี แต่ถึงกระนั้น อุตสาหกรรมวัฒนธรรมก็ไม่ได้ครอบงำหญิงไทยหมด จนทำให้รู้สึกอยากจะทำศัลยกรรมไปตามมาตรฐานของงามของเกาหลีแบบเป๊ะ ๆ  แต่หญิงไทยมักจะเลือกสร้างภาพลักษณ์ในรูปแบบที่ตนเองต้องการ และพึงพอใจมากกว่า โดยผสมผสานกับการทำศัลยกรรมความงามเกาหลีได้ด้วย และทำให้ตนเองสามารถใช้ประโยชน์จากรูปแบบความงามนี้ เพื่อยกระดับชีวิตตามที่ตนเองต้องการในสังคมปัจจุบัน 

—————

แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์

ภาพ: AFP


#GlobalLink #รยูจุนยอล #เกาหลีใต้ #BeautyStandard #บิวตี้สแตนดาร์ด #มาตรฐานความงาม #ความงาม 

#TNNONLINE #TNNThailand #TNNช่อง16


ข้อมูลอ้างอิง:

Sublime object of ideology: Korean beauty standards and metaverse - Korea Times

Obsessed with looks - Korea Times

ดุษฎีนิพนธ์: สวยสั่งได้: ผู้หญิงไทยกับศัลยกรรมความงามแบบเกาหลี - TU

ข่าวที่เกี่ยวข้อง