รู้จักกับ “แม็กกี้” ที่ไม่ได้เอาไว้เหยาะใส่ไข่ดาว แต่เป็นเครื่องบินสำรวจดาวอังคารที่ทำจากแผงโซลาร์เซลล์ของ NASA
การสำรวจดาวอังคารเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญของนาซา (NASA) โดยล่าสุดได้เตรียมแผ่นพัฒนาอากาศยานสำรวจดาวอังคารที่สามารถทำงานด้วยพลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ซึ่งติดรอบตัวเครื่องพร้อมปีกที่ยาวเป็นพิเศษ และยังสามารถขึ้นลงในแนวดิ่ง (VTOL) ได้อีกด้วย
ข้อมูล “แม็กกี้” อากาศยานสำรวจดาวอังคารของ NASA
โครงการดังกล่าววมีชื่อว่า “แม็กกี้” (MAGGIE: Mars Aerial and Ground Intelligent Explorer) เป็นอากาศยานปีกตรึงขนาดเล็กที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ตามปีกและลำตัวเครื่อง พร้อมรองรับการขึ้นบินและลงจอดในแนวดิ่ง (VTOL) ออกแบบโดย โคโฟลว์เจ็ต (Coflow Jet) บริษัทด้านอากาศยานสัญชาติอเมริกัน ก่อนได้รับเลือกจาก NASA ให้เป็นแผนการพัฒนาหลักตามโครงการพัฒนาของ NASA ที่มีชื่อว่าเอ็นไอเอซี (NIAC: NASA Innovative Advanced Concepts)
ปัจจุบันยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดของ MAGGIE แต่ระบุว่าตัวเครื่องสามารถบินได้ที่ระดับความสูง 1,000 เมตร ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ สามารถทำความเร็วได้สูงสุด 0.25 มัค (mach) หรือ 298 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บินได้ไกลสูงสุด 179 กิโลเมตร ชาร์จไฟฟ้าด้วยแผงโซลาร์เซลล์จนเต็มภายในระยะเวลา 7.6 โซล (Sol) หรือหน่วยวันของดาวอังคาร หรือประมาณ 10.6 วันของโลก เมื่อคิดจาก 1 วันของดาวอังคารนั้นยาวนานกว่าวันบนโลก 39 นาที กับอีก 35 วินาที
เป้าหมายการพัฒนา “แม็กกี้” ไปสำรวจดาวอังคาร
NASA เลือกใช้ MAGGIE ทำภารกิจในการรวบรวมข้อมูลเพื่อกลยุทธ์ในการสำรวจดาวอังคาร รวมถึงการศึกษาธรณีฟิสิกส์ (Geophysics) ของดาวอังคาร, การสำรวจกลไกของชั้นบรรยากาศในทางเคมี และการสำรวจความเป็นไปได้ในการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทั้งในอดีตและปัจจุบัน
ทั้งนี้ เมื่อทาง NASA และ Coflow Jet สามารถพัฒนา MAGGIE และส่งไปทำภารกิจบนดาวอังคารได้จริง คาดว่า จะสามารถบินสำรวจเป็นระยะทางรวมได้ 16,048 กิโลเมตร ในระยะเวลา 1 ปีดาวอังคาร หรีอเทียบเท่า 687 วันของโลก ในอนาคตต่อไป
ที่มาข้อมูล Interesting Engineering
ที่มารูปภาพ NASA