รีเซต

เช็กกฎ-กติกา ศึกชิง 5,300 อบต.

เช็กกฎ-กติกา ศึกชิง 5,300 อบต.
มติชน
14 ตุลาคม 2564 ( 06:55 )
38
เช็กกฎ-กติกา ศึกชิง 5,300 อบต.

บรรยากาศการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง ล่าสุดมาถึงคิวสนามเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. มีกำหนดเข้าคูหาเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน 2564

 

หากเอ่ยถึง อบต.ถือว่าเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากมีขนาดเล็กอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ปัจจุบันมี อบต.จำนวนทั้งสิ้น 5,300 แห่งทั่วประเทศ โดย อบต.มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวกับการจัดระบบบริการสาธารณะต่างๆ ในเขตพื้นที่ตำบล ทั้งด้านสาธารณูปโภค สาธารณสุข การคุ้มครองและบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ การส่งเสริม การพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน คนพิการ เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 11-15 ตุลาคม จะเป็นช่วงของการเปิดรับสมัครรับเลือกตั้งทั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพียงแค่เปิดรับสมัครวันแรก มีผู้ให้ความสนใจลงสมัครแข่งขันเป็นจำนวนมาก พบว่ามีผู้สมัครสมาชิก อบต.และนายก อบต. ครบทั้ง 76 จังหวัด รวมจำนวน 98,398 ราย คาดว่าหลังจากปิดรับสมัครจะมีผู้สมัครทะลุหลักแสนคนอย่างแน่นอน

 

อย่างไรก็ตาม การรับสมัครเลือกตั้งครั้งนี้ ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง เลขาธิการการเลือกตั้ง ต่างออกมาเน้นย้ำให้บุคคลที่ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้งนั้น ควรตรวจสอบและเช็กคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามให้เรียบร้อยก่อนลงสมัคร เพราะหากผู้สมัครที่รู้ว่าตัวเองขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามแล้วมาลงสมัคร จะมีโทษตามมาตรา 120 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่น ถึง 2 แสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี ได้

 

ทว่า อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องพึงระวังสำหรับผู้สมัครคือ กฎและกติกาต่างๆ โดยเฉพาะการหาเสียงเลือกตั้ง เพราะนับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่ กกต.ประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้ง ผู้สมัครและผู้ช่วยหาเสียงสามารถหาเสียงเลือกตั้งได้ทันทีไปจนถึงเวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้ง นั่นคือวันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2564

 

ซึ่ง กกต.ได้กำหนดแนวทางในการจัดทำและปิดประกาศหรือติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครดำเนินการ ดังนี้ 1.ประกาศ มีขนาดความกว้างไม่เกิน 30 เซนติเมตร และมีขนาดความยาวไม่เกิน 42 เซนติเมตร 2.แผ่นป้าย มีขนาดความกว้างไม่เกิน 130 เซนติเมตร และมีขนาดความยาวไม่เกิน 245 เซนติเมตร ส่วนรายละเอียดของประกาศหรือแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งนั้น ผู้สมัครสามารถระบุชื่อ รูปถ่าย หมายเลขประจำตัวผู้สมัคร ชื่อของพรรคการเมือง สัญลักษณ์ของพรรคการเมือง สัญลักษณ์ นโยบายของผู้สมัคร คติพจน์ คำขวัญ ข้อมูลประวัติเฉพาะที่เกี่ยวกับตัวผู้สมัคร พร้อมระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวันเดือนปีที่ผลิตไว้บริเวณที่เห็นได้ชัดเจนของประกาศเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง และแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง

ส่วนกรณีการนำข้อมูลเกี่ยวกับพรรคการเมืองข้างต้น หรือการนำภาพบุคคลเพื่อใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งจะต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลหรือพรรคการเมืองนั้น และไม่ขัดต่อมาตรา 34 ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 และอาจนำภาพผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดียวกันมาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งด้วยก็ได้ ขณะที่จำนวนของประกาศและแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งที่ผู้สมัครจัดทำได้นั้น ประกาศไม่เกิน 5 เท่า ของจำนวนหน่วยเลือกตั้งของแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขณะที่แผ่นป้ายไม่เกิน 3 เท่า ของจำนวนหน่วยเลือกตั้งของแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

สำหรับบทกำหนดโทษ การปิดประกาศหรือติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งจะกระทำได้เฉพาะในสถานที่ รวมทั้งมีขนาดและจำนวนไม่เกินที่ กกต.หรือผู้ซึ่ง กกต.มอบหมายกำหนด หากฝ่าฝืนระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 132 ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562

 

นอกจากเรื่องการจัดทำและปิดประกาศหรือติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งแล้ว สิ่งสำคัญที่ผู้สมัครต้องคำนึงคือการหาเสียงเลือกตั้ง ต้องหาเสียงด้วยความสุจริต อย่าใส่ร้ายป้ายสี หรือนำสถาบันมาหาเสียง รวมทั้งการซื้อสิทธิขายเสียง การกำหนดห้ามผู้ใดซึ่งไม่ได้มีสัญชาติไทยเข้ามามีส่วนช่วยเหลือในการเลือกตั้ง กระทำการอันเป็นเท็จเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้งหรือแกล้งให้ผู้สมัครผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง การขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิด ในเขตเลือกตั้งระหว่างเวลา 18.00 น.ของวันก่อนเลือกตั้งหนึ่งวันจนถึงเวลา 18.00 น.ของวันเลือกตั้ง

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับการดำเนินการกรณีการเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรมตอนประกาศผลการเลือกตั้ง กกต.มีอำนาจ คำสั่งให้เป็นที่สุด คือ สั่งเลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) สั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้เป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี (ใบส้ม) ทั้งนี้ เมื่อ กกต.มีคำสั่งให้ใบเหลืองหรือใบส้มให้ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งต่อไป ส่วนกรณีหลังประกาศผลการเลือกตั้ง กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (ใบดำ) เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี (ใบแดง)

 

ด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. เปิดเผยว่า ภาพรวมการเลือกตั้งสมาชิก อบต.และนายก อบต. ยังคงเป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่พบปัญหาหรืออุปสรรคใด สิ่งที่อยากเน้นย้ำคือผู้ประสงค์จะลงสมัครต้องรู้ตัวเองว่ามีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามในการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส่วนเรื่องการหาเสียงการเลือกตั้ง เราได้เตือนไปยังผู้สมัครให้ระมัดระวังทุกครั้งว่าต้องหาเสียงถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใส่ร้ายป้ายสีกัน หรือเอารัดเอาเปรียบกัน ซึ่งการหาเสียงใส่ร้ายป้ายสี หาเสียงไม่เป็นไปตามกฎหมาย การซื้อสิทธิขายเสียง การสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินต่างๆ มีความเป็นห่วงเพราะที่ผ่านมามีคดีเป็นจำนวนมาก จึงไม่อยากให้เกิดขึ้น ส่วนเรื่องป้ายหาเสียงผู้สมัครต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งขนาดและจำนวน เพราะเมื่อมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาก็จะกลายเป็นคดีได้ ดังนั้น จึงอยากให้ผู้สมัครระมัดระวังเรื่องนี้เป็นพิเศษ

 

ส่วน บิ๊กเนม หรือ โนเนม ใครจะเข้าวิน หลังปิดหีบนับคะแนนในวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ เป็นอันได้รู้กัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง