กกต. สำรวจ ปชช.พร้อมออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งอบต. 53% ชี้โควิดทำลังเล
ข่าววันนี้ 4 พฤศจิกายน ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. พร้อมด้วยนายธนสุวิทย์ ทับหิรัญรักษ์ ที่ปรึกษาอปท.นิวส์โพล ร่วมแถลงข่าวผลการสำรวจการรับรู้ข้อมูลข่าวสารการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หัวข้อ”ถามใจคนท้องถิ่น ใช้สิทธิเลือกตั้งอบต.”เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงการรณรงค์เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งก่อนจะถึงวันเลือกตั้งในปลายเดือนนี้
โดยนายธนสุวิทย์ กล่าวว่า ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 19-25 ตุลาคม 2564 โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมาย 5 ภาคๆละ 3 จังหวัด จากข้อมูลผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งอบต. คร้ังหลังสุด ดังนี้ ภาคเหนือ จังหวัดลำพูน ลำปาง กำแพงเพชร ภาคกลางและปริมณฑล จังหวัดเพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ ภาคกลางและตะวันออก จังหวัดสระบุรี ลพบุรี ชลบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดมหาสารคาม ยโสธร อุดรธานี และภาคใต้ จังหวัดชุมพร สงขลา ประจวบคีรีขันธ์ รวม 15 จังหวัดๆ ละ 150 ราย รวมทั้งสิ้น 2,756 คน
ซึ่งจากผลสำรวจร้อยละ 86 ทราบแล้วว่าจะมีการเลือกตั้งอบต. วันไหน ร้อยละ 14 ที่บอกว่าไม่ทราบ โดยกลุ่มตัวอย่างที่ทราบว่ามีการเลือกตั้งส่วนใหญ่ทราบจากสื่อสังคมออนไลน์ รองลงมาคือ ป้ายประชาสัมพันธ์เชิญชวน และรู้จากผู้นำชุมชนและเจ้าหน้าที่อบต.
เมื่อถามว่าการเลือกตั้ง อบต. ทำให้นึกถึงเรื่องใดมากที่สุด ร้อยละ 50 ตอบว่า การพัฒนาท้องถิ่น ร้อยละ 26 นึกถึงประชาธิปไตย และร้อยละ 25 นึกถึงสิทธิของคนในท้องถิ่น นอกจากนี้ ร้อยละ 58 เห็นว่าการเลือกตั้งอบต.มีผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเอง มีเพียงร้อยละ 26 ตอบว่าไม่แน่ใจ และร้อยละ 16 ตอบว่าไม่มีผล ส่วนความเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งอบต.ครั้งนี้มีความสุจริต โปร่งใส หรือไม่ มีเพียงร้อยละ 31 ที่เชื่อมั่น ร้อยละ 50 ไม่แน่ใจ และร้อยละ19 ไม่เชื่อมั่น
เมื่อถามว่าวันที่ 28 พฤศจิกายน 64 นี้จะไปเลือกตั้งอบต.หรือไม่ ร้อยละ 53 ตอบว่า ไปแน่นอน ร้อยละ 27 คิดว่าจะไป มีร้อยละ 17 ที่ยังไม่แน่ใจ และร้อยละ 3 ที่บอกว่าไม่ไป ส่วนปัจจัยที่จะมีผลต่อการไปใช้สิทธิเลือกตั้งอบต. ส่วนใหญ่ร้อยละ 51 ระบุว่า โควิด-19 ร้อยละ 17 มองในเรื่องความสะดวกในการเดินทาง และร้อยละ 12 มองเรื่องฝนฟ้าอากาศและผู้สมัครรับเลือกตั้ง ที่เหลือร้อยละ 8 คือค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
ส่วนปัจจัยใดจะส่งผลต่อการเลือกตั้ง อบต. ครั้งนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 34 ตอบว่าเป็นนโยบายการหาเสียง รองลงมาร้อยละ 27 คือคุณสมบัติของผู้สมัคร ร้อยละ 20 คือวิธีการและกลยุทธ์ในการหาเสียง ร้อยละ 12 ระบุว่า อิทธิพลของนักการเมือง และร้อยละ 7 บอกว่าเงินที่ใช้หาเสียง
อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างว่าเคยพบปะพูดคุยกับอดีตนายกหรือสมาชิกอบต. เพื่อเสนอแนวคิดในการแก้ปัญหาหรือพัฒนาท้องถิ่นไหม มีเพียงร้อยละ 39 บอกว่าเคย และร้อยละ 61 บอกว่าไม่เคย
ส่วนการรู้จักแอปพลิเคชั่น Smart Vote ที่กกต.ได้พัฒนาขึ้นเพื่อไว้สำหรับให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหาข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งมีเพียงร้อยละ 33 ที่ตอบว่าทราบ และร้อยละ 67 ตอบว่า ไม่ทราบ ขณะที่แอปพลิเคชั่นตาสับปะรด ที่กกต.สร้างขึ้นเพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนแจ้งข้อมูลการทุจริตการเลือกตั้ง มีประชาชนทราบเพียงร้อยละ 38 ตอบว่า ร้อยละ 62 ตอบว่าไม่ทราบ
นายธนสุวิทย์ ยังกล่าวอีกว่า จากข้อมูลดังกล่าวที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 27 ระบุว่าคิดว่าจะไป และร้อยละ 17 ยังไม่แน่ใจว่าจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งอบต.ในวันที่ 28 พฤศจิกายน และร้อยละ 51 ระบุว่าปัญหาโควิด-19 เป็นปัจจัยที่ผลต่อการออกไปใช้สิทธิ ซึ่งถ้าหากกกต.มีการเร่งประชาสัมพันธ์ ก็จะทำให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการเลือกตั้งอบต. และสร้างความเชื่อมั่นว่าจะมีความปลอดภัยเมื่อออกไปใช้สิทธิ ก็จะทำให้ตัวเลขของผู้ที่คิดว่าจะไป และยังไม่แน่ใจว่าจะไปใช้สิทธิหรือไม่ เปลี่ยนใจไปใช้สิทธิ ซึ่งก็จะทำให้ตัวเลขของคน 2 กลุ่มนี้ ไปรวมกับผู้ที่มั่นใจว่าจะไปใช้สิทธิแน่นอน ซึ่งมีอยู่ขณะนี้ร้อยละ 53 ทำให้ผู้ที่จะออกไปใช้สิทธิมีสูงถึงร้อยละ 80
ด้านพ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ผลสำรวจที่ออกมาเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของกกต. ทำให้เราทราบว่าที่ผ่านมามีจุดไหนที่กกต.ควรจะไปเพิ่มเติมก่อนวันเลือกตั้ง ซึ่งกกต.ต้องการให้ผู้มีสิทธิ ออกมาใช้สิทธิให้มาก เพราะจำนวนผู้มาใช้สิทธิเป็นตัวบ่งบอกถึงการพัฒนาประชาธิปไตย อย่างในเรื่องปัญหาโควิด-19 ซึ่งจากผลสำรวจระบุว่ามีผลต่อการตัดสินใจออกไปใช้สิทธิ ทางสำนักงานกกต.จะนำข้อมูลดังกล่าวว่าจะมีมาตรการอย่างไรที่จะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ เพื่อให้ออกมาใช้สิทธิให้มาก ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งต่อๆไป ก็อาจจะมีการทำสำรวจในลักษณะนี้อีก เพื่อทางสำนักงานจะได้มีข้อมูลในการพัฒนาการประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งเพื่อให้เข้าถึงประชาชนให้มากที่สุด