รีเซต

ครม.ไฟเขียวคลังกู้เงินเอดีบี 4.8 หมื่นล้าน อายุ 10 ปี ปลอดชะรำเงินต้น 3 ปี หวังใช้ฟื้นฟูโควิด-19

ครม.ไฟเขียวคลังกู้เงินเอดีบี 4.8 หมื่นล้าน อายุ 10 ปี ปลอดชะรำเงินต้น 3 ปี หวังใช้ฟื้นฟูโควิด-19
ข่าวสด
4 สิงหาคม 2563 ( 16:49 )
66
ครม.ไฟเขียวคลังกู้เงินเอดีบี 4.8 หมื่นล้าน อายุ 10 ปี ปลอดชะรำเงินต้น 3 ปี หวังใช้ฟื้นฟูโควิด-19

 

ครม.ไฟเขียวคลังกู้เงินเอดีบี 4.8 หมื่นล้าน อายุ 10 ปี ปลอดชะรำเงินต้น 3 ปี หวังใช้ฟื้นฟูโควิด-หลีกทางเอกชนใช้เงินกู้ในประเทศ

ครม.ไฟเขียวคลังกู้เงินเอดีบี - น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างสัญญาเงินกู้ระหว่างรัฐบาลไทยและธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) วงเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 48,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในโครงการแผนงานภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

สำหรับอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว โดยอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระหว่างธนาคารของตลาดลอนดอน (LIBOR) ระยะเวลา 6 เดือน บวกด้วยส่วนต่าง 0.50% ต่อปี โดยชำระดอกเบี้ยของวงเงินกู้คงค้างทุก 6 เดือน คือ วันที่ 15 ก.พ. และวันที่ 15 ส.ค. และมีค่าธรรมเนียมผูกพันเงินกู้ อัตรา 0.15% ต่อปี ภายหลัง 60 วันนับจากวันที่ลงนามในสัญญาเงินกู้ของวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกจ่าย โดยชำระค่าธรรมเนียมพร้อมกับการชำระดอกเบี้ย

ส่วนการชำระคืนต้นเงินกู้ แบ่งเป็น 2 วงเงินดังนี้ วงเงินที่ 1 วงเงินกู้ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อายุเงินกู้ 10 ปี รวมระยะเวลาปลอดการชำระต้นเงินกู้ 3 ปี ทยอยชำระคืนโดยแบ่งเป็น 14 งวด งวดละ 35.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 15 ส.ค. 2566 และชำระงวดสุดท้ายในวันที่ 15 ก.พ.2573

วงเงินที่ 2 วงเงินกู้ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อายุเงินกู้ 5 ปี รวมระยะเวลาปลอดชำระต้นเงินกู้ 3 ปี ทยอยชำระคืนโดยแบ่งเป็น 4 งวด งวดละ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 15 ส.ค. 2566 และชำระงวดสุดท้ายในวันที่ 15 ก.พ. 2568

ปัจจุบันสัดส่วนของหนี้รัฐบาลที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศยังอยู่ในระดับที่ต่ำ และกระทรวงการคลังสามารถบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนของเงินกู้สกุลเงินตราต่างประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ โดยสัญญาเงินกู้ฯ ฉบับดังกล่าว มีกำหนดลงนามกับ เอดีบีภายในเดือนส.ค.นี้

ทั้งนี้ ความจำเป็นในการกู้เงินครั้งนี้ เนื่องจากกระทรวงการคลัง คาดว่าในระยะต่อไปสภาวะตลาดการเงินภายในประเทศของไทยจะมีความผันผวนเพิ่มขึ้น โดยภาคเอกชนมีความต้องการสภาพคล่องเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับผลกระทบจากโรคติดเชื้อโควิด-19 และรัฐบาลยังคงต้องใช้งบประมาณเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อสภาพคล่องภายในประเทศและต้นทุนการกู้เงินของทั้งภาครัฐและเอกชน กระทรวงการคลังจึงเห็นควรกระจายการกู้เงินไปยังแหล่งเงินกู้ต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการกู้เงินจาก เอดีบี วงเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในครั้งนี้แล้ว จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด จะเท่ากับ 2.46 ซึ่งไม่เกิน 10% ตามกรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด และกระทรวงการคลัง จะดำเนินการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เมื่อภาวะตลาดเอื้ออำนวยต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง