รีเซต

ตัวเลขบัตรประชาชน สำคัญ! ระวังแอบอ้างทำธุรกรรมการเงิน

ตัวเลขบัตรประชาชน สำคัญ! ระวังแอบอ้างทำธุรกรรมการเงิน
TrueID
30 สิงหาคม 2564 ( 12:58 )
1.5K
ตัวเลขบัตรประชาชน สำคัญ! ระวังแอบอ้างทำธุรกรรมการเงิน

จากการโพสต์ของเพจ Anti-Fake News Center Thailand เปิดเผยข้อมูลจาก "สำนักงานกิจการยุติธรรม" โดยให้ความรู้เกี่ยวกับตัวเลขบัตรประชาชน โดยระบุว่า "ตัวเลขต้องระวังข้อมูลสำคัญในบัตรประชาชน" วันนี้ trueID พาไปรู้จักกับตัวเลขบัตรประชาชนว่ามีความสำคัญอย่างไร ทำไมเราต้องระมัดระวังไม่ให้ใครนำข้อมูลไปใช้ได้ 

 

บัตรประจำตัวประชาชน เป็นเอกสารราชการที่ออกให้สำหรับคนไทยที่มีชื่อในทะเบียนบ้านเท่านั้น เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการแสดงตน ใช้พิสูจน์ และยืนยันตัวบุคคลในการติดต่อราชการ การขอรับบริการหรือสวัสดิการในด้านต่างๆ จากหน่วยงานของรัฐรวมทั้งใช้ประกอบการทำธุรกรรมต่างๆ ทำนิติกรรม ฯลฯ เช่น การสมัครงาน การขอเปิดบัญชีเพื่อทำธุรกรรมกับธนาคาร การโอนอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น



ตัวเลข 13 หลัก ในบัตรประชาชน เป็นการแสดงตัวตน “ความเป็นคนไทยหรือคนในประเทศไทย” เป็นที่อาศัย และใช้สิทธิอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อแสดง และยืนยันตัวตน เนื่องจากบนหน้าบัตรจะระบุทั้งชื่อ นามสกุล รวมถึงวัน เดือน ปีเกิด รูปภาพใบหน้า และที่อยู่ของเรา ที่สำคัญมี "หมายเลข 13 หลัก" ในการทำธุรกรรมกับธนาคาร หรือติดต่อราชการ

 


นอกจากนั้นด้านหลังบัตรมีชุดตัวเลข เรียกว่า Laser ID ซึ่งปัจจุบันภาครัฐ เช่น สรรพากร, ตำรวจ, กระทรวงฯ, กรมฯ ต่างๆ รวมถึงภาคการเงินบังคับใช้ Laser ID นี้ในการทำธุรกรรม ตรวจสอบ ยืนยันตัวตน ควบคู่กับเลขบัตรประชาชน 13 หลัก เรียกว่า e-KYC (Electronic - Known Your Client) APP ที่เกี่ยวข้องกับเงินหรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Wallet) ต้องใช้ทั้งหมด

 


หากข้อมูลหน้าบัตรประชาชนหลุดไปก็อันตรายมากพอแล้ว ยิ่งข้อมูล Laser ID หลุดไปด้วย ยิ่งอันตรายเป็นทวีคูณ เหมือนเลขบัตรเครดิตหลุดไปพร้อมกับ CVV หลังบัตร

 


ดังนั้น ก่อนการเปิดเผยข้อมูลจากบัตรประจำตัวประชาชนแต่ละครั้ง เราควรหยุดคิดให้รอบคอบก่อนเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้ใครได้รู้ เพราะมิจฉาชีพในปัจจุบันมีวิธีการฉ้อโกงหลอกลวงได้หลายวิธี อย่าหลงเชื่อกลลวง และควรเก็บรหัสเหล่านี้ไว้เป็นความลับของตนเอง

 

 

 

ทั้งนี้ ความหมายของตัวเลข 13 หลักในบัตรประชาชน มีดังนี้

 

หลักที่ 1 บอกประเภทบุคคล

หลักที่ 2 และ 3 บอกจังหวัดที่เกิด

หลักที่ 4 และ 5 บอกอำเภอ เขต เทศบาลที่เกิด

หลักที่ 6 ถึง หลักที่ 10 ตัวเลขที่ 5 หลักนี้จะบอกเล่มที่ของสูติบัตร ตามประเภทของบุคคล

หลักที่ 11 และ 12 บอกใบที่ของสูติบัตรแต่ละเล่ม ตามประเภทของบุคคล

หลักที่ 13 หลักสุดท้าย บอกตัวเลขตรวจสอบความถูกต้องของเลขประจำตัวประชาชนทั้งหมด (ใช้สูตรคำนวณเฉพาะ)

 

 

 

 

อย่างไรก็ตาม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้อธิบายรายละเอียดของหมายเลขหลักที่ 1 หรือหมายเลขตัวแรกบนบัตรประชาชน โดยแบ่งไว้ 8 ประเภทบุคคลดังนี้

 

ประเภทที่ 1 คือ คนที่เกิดและมีสัญชาติไทย และได้แจ้งเกิดภายในกำหนดเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2527 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นวันแรกหลังจากมีการประกาศให้ประชาชนทุกคนต้องมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ภายในระยะเวลา 15 วันนับตั้งแต่วันเกิดตามที่กฎหมายกำหนด จะมีเลขประจำตัวขึ้นด้วยเลข 1 เป็นต้น

ประเภทที่ 2 คือ คนที่เกิดและมีสัญชาติไทย และได้แจ้งเกิดภายในกำหนดเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2527 เป็นต้นไป แต่ไม่ได้แจ้งเกิดภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันเกิดตามที่กฎหมายกำหนด

ประเภทที่ 3 คือ คนไทยหรือคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่ใดที่หนึ่งในประเทศไทย ก่อน 31 พฤษภาคม 2527

ประเภทที่ 4 คือ คนไทยหรือคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญคนต่างด้าว แต่แจ้งย้ายเข้าโดยที่ยังไม่มีเลขประจำตัวประชาชน (ซึ่งต้องอยู่ในช่วงกำหนดระยะเวลา 1 มกราคม-31 พฤษภาคม 2527) ยกตัวอย่างเช่น คนไทยหรือคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญคนต่างด้าว อยู่อาศัยในพื้นที่หนึ่ง ต่อมาได้ย้ายไปพื้นที่อื่น แต่ยังไม่ได้เลขประจำตัว ก็จะเข้าข่ายเป็นบุคคลประเภทที่ 4

ประเภทที่ 5 คือ คนไทยที่ได้รับอนุมัติให้เพิ่มชื่อเข้าไปในทะเบียนบ้านในกรณีตกสำรวจหรือกรณีอื่นๆ

ประเภทที่ 6 คือ ผู้ที่เข้าเมืองโดยชอบและไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่อยู่ในลักษณะชั่วคราว และยังไม่ได้สัญชาติไทย เนื่องจากทางการยังไม่รองรับตามกฎหมาย เช่น ชนกลุ่มน้อยหรือชาวเขาตามชายแดน ชาวต่างชาติที่มีสามีหรือภรรยาเป็นคนไทย ซึ่งอาจไปขอทำทะเบียนประวัติเพื่อให้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของสามีหรือภรรยาคนไทย

ประเภทที่ 7 คือ บุตรของบุคคลประเภทที่ 6 ที่เกิดในประเทศไทย

ประเภทที่ 8 คือ คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมาย และคนที่ได้รับการแปลงสัญชาติเป็นสัญชาติไทยหลัง 31 พฤษภาคม 2557

 

 

ที่มา : สำนักงานกิจการยุติธรรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ข่าวที่เกี่ยวข้อง