รีเซต

'เอกชน' เสนอ 'ธปท.' ต่อยืดหนี้ แนะรัฐเปิดเยียวยา 5พัน เฟส2-ออกแพ็คเกจกระตุ้น ศก.

'เอกชน' เสนอ 'ธปท.' ต่อยืดหนี้ แนะรัฐเปิดเยียวยา 5พัน เฟส2-ออกแพ็คเกจกระตุ้น ศก.
มติชน
20 กรกฎาคม 2563 ( 03:32 )
68
'เอกชน' เสนอ 'ธปท.' ต่อยืดหนี้ แนะรัฐเปิดเยียวยา 5พัน เฟส2-ออกแพ็คเกจกระตุ้น ศก.

‘เอกชน’ เสนอ ‘ธปท.’ ต่อยืดหนี้ แนะรัฐเปิดเยียวยา 5พัน เฟส2-ออกแพ็คเกจกระตุ้น ศก.

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดถึงกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่ 2 สำหรับประชาชนกลุ่มที่ยังไม่สามารถกลับมาทำงานได้ หรือมีรายได้ลดลงมาก ให้สามารถขอปรับโครงสร้างหนี้ได้ เช่น เลื่อนหรือลดชำระเงินต้น ขอลดดอกเบี้ย หรือเปลี่ยนหนี้ระยะสั้นให้เป็นหนี้ระยะยาวที่มีดอกเบี้ยถูกลง โดยลูกหนี้จะไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต ว่า ในระยะแรก ธปท. ได้ออกมาตรการยืดหรือขยายระยะเวลาชำระหนี้ จำนวน 1.6 ล้านบัญชี มูลค่า 6.68 ล้านล้านบาท โดย 51% เป็นกลุ่มสินเชื่อรายบุคคล ส่วนอีก 43% สินเชื่อธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยจะสิ้นสุดในเดือนสิงหาคมนี้ แต่ในภาวะที่ธุรกิจขาดความสภาพคล่องเช่นนี้ มองว่า ธปท. ควรพิจารณายืดการชำระออกไป ซึ่งต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ และมีช่วงการพักชำระหนี้ด้วย ไม่อย่างนั้นลูกหนี้ก็ยังได้รับผลกระทบ และอาจทำให้เกิดปัญหาหนี้เสียซึ่งแก้ไขยากตามมา

“การขอลดดอกเบี้ยไม่สำคัญเท่าการยืดหนี้ ซึ่ง ธปท. มีการคิดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ 2% อยู่แล้ว ดังนั้น คิดว่าดอกเบี้ยถูกไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือการเข้าถึงแหล่งเงิน ซึ่งแบงก์ชาติให้แบงก์พาณิชย์เป็นคนปล่อยสินเชื่อ ซึ่งพิจารณาจากลูกหนี้ชั้นดี จะไม่เอาเครดิตบูโรมาพิจารณาเป็นไปไม่ได้ เพราะปล่อยแล้วต้องได้เงินคืน แต่มองว่าการปล่อยสินเชื่อปกติ ในเวลาที่ไม่ปกติ ทำไม่ได้เพราะในเวลานี้ไม่ปกติ ฉะนั้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบจึงเข้าไม่ถึงแหล่งเงินได้” นายธนิต กล่าว

นายธนิต กล่าวว่า ทั้งนี้ มองว่ารัฐบาลควรออกมาตรการเยียวยา 5,000 บาท 3 เดือน เฟส 2 เพื่อให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับสิทธิ และยังไม่มีงานได้รับความช่วยเหลือ โดยอาจแบ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรซึ่งขึ้นทะเบียนไว้ชัดเจน แม้อาจจะมีการทับซ้อนบ้างคงไม่มาก และกลุ่มลูกจ้างนอกภาคการเกษตร ซึ่งประเมินไว้ที่ 8.4-9 ล้านคน จากเดิมที่มีผู้ลงทะเบียนรับสิทธิเยียวยา 5,000 บาท 3 เดือน เฟสแรก 14-15 ล้านคน ทั้งนี้ เพื่อให้คนกลุ่มนี้นำเงินมาหมุนเวียนในตลาด ทำให้สภาพคล่องการบริโภคขยายตัว ซึ่งต้องทำต่อถ้าไม่ทำเสียของ ที่ผ่านมาแม้จะมีการช่วยเหลือแต่เชื่อว่ายังมีผู้ตกค้าง โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวที่เห็นได้ชัดเจนว่าซบเซา

ส่วนเรื่องการกระตุ้นการลงทุนอย่างที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ชอบพูด อย่างการลงทุนในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ตอนนี้ไม่ต้องพูดถึง ไม่มีแล้ว ส่วนตัวพูดเสมอว่า วันนี้ทุกคนอยู่ในห้องไอซียู อย่าพูดอะไรที่ไกลตัวจะเกิดในอีก 5-10 ปี เอาไปไกลๆ วันนี้จะตายไม่ตายไม่รู้ จะต้องพูดถึงโปรเจคที่จับต้องได้ และต้องดูว่าจะช่วยประคับประคองธุรกิจอย่างไร ซึ่งเกี่ยวข้องกับสภาพคล่องอย่างเดียว ต้องมีการอัดฉีดเข้าไปในสภาพคล่อง จะหวังพึ่งภาคการท่องเที่ยวอย่างเดียวไม่ได้

“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจควรออกเป็นแพ็คเกจ การออกคราวที่แล้วดูเหมือนเด็กเล่น กระปริบกระปรอย ครั้งนี้ควรกำหนดให้ชัดเจนเลยว่าจากนี้ไปถึงสิ้นปีจะทำอะไรบ้าง ใช้เงินเท่าไร และเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร อาจมีบ้างที่ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยก็ธรรมดา เห็นด้วยก็ไม่ใช่ฝ่ายค้าน” นายธนิต กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง