รีเซต

อีคอนไทย เผยปี’64 ไร้ปัญหาค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ เหตุกังวลตกงานมากกว่า

อีคอนไทย เผยปี’64 ไร้ปัญหาค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ เหตุกังวลตกงานมากกว่า
มติชน
1 มกราคม 2564 ( 06:45 )
330
อีคอนไทย เผยปี’64 ไร้ปัญหาค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ เหตุกังวลตกงานมากกว่า

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่า ภาพรวมการจ้างงานในปี 2564 ยังไปในทิศทางเดียวกับไตรมาส 4/2563 คือมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากภาคการส่งออกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น การนำเข้าวัตถุดิบกลับมาติดลบต่ำสุดในรอบ 9 ปี ประกอบกับหากพิจารณาจากอัตราการใช้กำลังผลิต (ซียูพี) ของภาคอุตสาหกรรมไทยเฉลี่ย 63-65% จากที่ต่ำสุดราว 52% แต่ก็ยังคงเป็นอัตราการผลิตที่ทำให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้างไม่คิดที่จะเพิ่มอัตรากำลังคนแต่อย่างใด และยังคงดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดเพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอดเป็นหลัก แต่ถือเป็นผลดีต่อการประคองการจ้างงานในภาคส่งออก ส่วนในเรื่องของค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ขณะนี้ มองว่าแรงงานส่วนใหญ่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการขึ้นของเงินเดือนมากนัก เพราะมีความกังวลในเรื่องของการมีงานทำและการลดลงของเงินเดือนมากกว่า

 

“โดยปี 2564 คาดว่าอัตราการว่างงานของแรงงานไทยยังคงสะสมอยู่ในระดับ 2.9 ล้านคน ปรับตัวลดลงเล็กน้อยตามทิศทางเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวมากขึ้น แต่จะเป็นลักษณะของการค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงมีอยู่ ซึ่งจะส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยที่อาศัยการท่องเที่ยวจากต่างชาติเป็นหลักยังคงอยู่ในภาวะที่ชะลอตัวเช่นเดิม” นายธนิต กล่าว

 

นายธนิต กล่าวว่า ถึงแม้ภาพรวมตลาดแรงงายังมีโอกาสฟื้นตัวขึ้น แต่ยังมีความเปราะบาง ตามทิศทางเศรษฐกิจและยังมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนสูงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้แรงงานไทยที่มี 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.แรงงานในตลาดแรงงานปัจจุบัน 2.แรงงานที่ตกงาน และ3.แรงงานใหม่ที่เตรียมเข้าสู่ตลาดแรงงาน ยังคงต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสูง เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต่างต้องเร่งปรับลดรายจ่ายลงเพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอด

 

ปัจจุบันอัตราแรงงานไทยมีจำนวนประมาณ 37 ล้านคน ซึ่งใน 50% นี้เป็นแรงงานในระบบประกันสังคม ซึ่งมีแนวโน้มว่าแรงงานอายุ 45-50 ปี มีทิศทางที่จะถูกให้เข้าโครงการสมัครใจลาออก หรือเออร์ลี่รีไทร์ มากขึ้น และแรงงานเหล่านี้ เมื่อเข้าโครงการแล้วจะไม่ปรากฏเป็นผู้ว่างงานในการจัดเก็บสถิติว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ยึดคำนิยามขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศที่ยังคงไม่ปรับเปลี่ยน เช่นเยวกับแรงงานที่มีอายุการทำงานเพียง 1 ปี ก็เป็นอีกกลุ่มเป้าหมายในการลดจำนวนคนของนายจ้างเช่นกัน เนื่องจากมองว่ามีประสบการณ์น้อยและจ่ายชดเชยต่ำ ส่วนแรงงานที่ตกงานอยู่แล้วกำลังจะกลายเป็นปัญหาหนัก เพราะอาจกลายเป็นแรงงานที่ตกงานถาวรหากรัฐบาลไม่มีมาตรการใดๆ ที่จะเข้ามาดูแลเพิ่มเติม

 

นายธนิต กล่าวว่า ส่วนแรงงานใหม่เสี่ยงตกงานสะสมซึ่งเป็นนักศึกษาจบใหม่ที่คาดว่าจะเข้ามาในระบบอีกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ประมาณ 5 แสนคน จะส่งผลให้เมื่อรวมกับนักศึกษาที่จบไปแล้วปี 2563 แต่ยังไม่มีงานทำประมาณเกือบ 4 แสนคน หรือมียอดสะสมประมาณ 9 แสนคน แม้ในจำนวนนี้จะตรงต่อความต้องการของอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลแต่เชื่อว่าปัจจุบันยังมีความต้องการไม่มาก ซึ่งความต้องการอาจเพิ่มขึ้นในปี 2565-2566 เมื่อถึงตอนนั้นจำนวนแรงงานที่จบใหม่อาจไม่พอต่อความต้องการของตลาดดิจิทัลก็ได้ เนื่องจากนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นสาขาที่ไม่ตรงต่อความต้องการตลาดอยู่ดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง