รีเซต

เข้าใจง่าย ฉบับมือใหม่! หัดปลูกกัญชา ขั้นตอน-การขออนุญาต และใครบ้างที่ปลูกได้

เข้าใจง่าย ฉบับมือใหม่! หัดปลูกกัญชา ขั้นตอน-การขออนุญาต และใครบ้างที่ปลูกได้
TNN ช่อง16
13 มิถุนายน 2565 ( 08:18 )
210
เข้าใจง่าย ฉบับมือใหม่! หัดปลูกกัญชา ขั้นตอน-การขออนุญาต และใครบ้างที่ปลูกได้

ความคืบหน้าหลังจากการปลดล็อกกัญชา กัญชง มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2565 ที่ผ่านมา ทำให้ กัญชา กัญชง ไม่ใช่ยาเสพติดอีกต่อไปตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น


ล่าสุดเพจเฟซบุ๊ก Thai FDA Cannabis ได้อัปเดตการลงทะเบียนจดแจ้งสำหรับประชาชนดังนี้ "จากการปลดล็อกกัญชา กัญชง มีผลบังคับใช้ได้เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 นี้ อย.ได้เปิดตัวแอปพลิเคชันและเว็บไซต์  ปลูกกัญ” (Plookganja) เพื่อช่วยประชาชนในการจดแจ้งการปลูก กัญชา กัญชง ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว 


โดยถึงปัจจุบันนี้  ได้มีผู้ที่ให้ความสนใจเข้าใช้งานแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ “ปลูกกัญ” เป็นจำนวนมากกว่า 32,106,554 ครั้ง และลงทะเบียนจดแจ้งการปลูก กัญชา กัญชง กว่า 582,399 คน 


สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าใช้งานทางเว็บไซต์ Plookganja.fda.moph.go.th/ หรือดาวน์โหลดได้ทาง “แอปพลิเคชัน ปลูกกัญ” (Plookganja) ทั้ง IOS (App store) และ android (Play store)


 



โดยจดแจ้งเพียง 3 ขั้นตอนง่าย ๆ  คือ 


1. ลงทะเบียน ผ่านเว็บไซต์ https://plookganja.fda.moph.go.th/ และ แอปพลิเคชัน "ปลูกกัญ" สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ IOS และ Android 


2. จดแจ้งตามวัตถุประสงค์ 


3. รับเอกสารจดแจ้งอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะทำให้ทราบจำนวนและแหล่งที่ปลูกกัญชา และกัญชงทั่วประเทศ อีกทั้ง ยังเป็นแหล่งข้อมูลให้ผู้ประกอบการแสวงหาวัตถุดิบเพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานออกสู่ตลาด เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาลอีกด้วย





 

การเตรียมสถานที่ปลูกกัญชา  กระบวนการปลูกกัญชา 



1.สถานที่ ที่ดินต้องเป็นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีเอกสารสิทธิที่ดิน และได้รับความยินยอมจากผู้ที่มีกรรมสิทธิในที่ดินนั้น อาจจะเป็นลักษณะของหนังสือยินยอมให้ใช้ที่ดิน หรือมีสัญญาเช่ากับเจ้าของที่ดินก็ได้

2.ให้เจ้าของมีหนังสือว่าให้หน่วยงานรัฐและวิสาหกิจชุมชนนี้เข้ามาใช้ที่ดินปลูกกัญชาได้

3.ส่วนโรงเรือนปลูกกัญชา จะไม่ได้กำหนดสเปค ท่านสามารถขออนุญาตปลูกได้ทั้งรูปแบบในระบบปิด ควบคุมแสง อุณหภูมิ หรือเป็น greenhouse มีโรงเรือนตาข่ายกั้น หรือท่านจะปลูกแบบ outdoor เลยก็ได้ ขึ้นกับโครงการของท่านว่าต้องการผลผลิตในลักษณะใด ความเหมาะสมกับสายพันธุ์ที่ท่านจะปลูก ให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เป็นไปตามมาตรฐาน และให้ท่านจัดทำมาตรการรักษาความปลอดภัย การป้องกันการเข้าถึงจากบุคคลภายนอก มีรั้วมีกุญแจ ซึ่งมีการกำหนดแนวทางการจัดเตรียมสถานที่ปลูกซึ่งผ่านความเห็นชอบจากกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ



การขออนุญาตปลูกกัญชาประกอบด้วยอะไรบ้าง


อันดับแรก ต้องมีคุณสมบัติตามกฎหมายก่อน นั่นก็คือท่านต้องมีสถานะเป็นวิสาหกิจชุมชน และไปร่วมกับหน่วยงานของรัฐ สอง มีโครงการ มีแผนการผลิต การใช้ประโยชน์ที่ชัดเจน สาม มีสถานที่ปลูกกัญชา ที่มีเอกสารสิทธิ หรือมีสิทธิครอบครองที่ถูกต้องตามกฎหมาย 


หากต้องการปลูกกัญชาจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร จึงจะสามารถจะเป็นเกษตรกรที่ปลูกกัญชาได้


ตามกฎหมายปัจจุบัน เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่รวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ สหกรณ์การเกษตร สามารถขออนุญาตปลูกกัญชาได้ โดยขออนุญาตร่วมกับหน่วยงานของรัฐ ที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัย หรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ หรือหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์


กัญชากับกัญชง เหมือนกันหรือไม่


พืชกัญชา (Cannabis) กับกัญชง (Hemp) มีถิ่นกำเนิดเดียวกัน อยู่ในวงศ์เดียวกัน คือ  Cannabaceae และสกุลเดียวกันคือ Cannabis แต่ต่างสายพันธุ์ย่อย และกัญชงก็มีต่อมน้ำมันที่เป็นประโยชน์ทางการแพทย์น้อยกว่าพืชกัญชา ตั้งแต่อดีตมีการใช้ต้นกัญชงซึ่งให้เส้น ใยคุณภาพในการเป็นวัสดุสิ่งทอ ปัจจุบันมีการนำเมล็ดกัญชงในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอาง กัญชงมีสาร cannabinoid ชนิด CBD สูงแต่มี THC ต่ำมาก


ขั้นตอนการปลูก


-ผู้ขออนุญาต* ต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด เช่น สัญชาติไทย มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย

-เตรียมสถานที่ปลูกให้เหมาะสม เช่น มีเลขที่ตั้งชัดเจน

-ยื่นคำขอพร้อมด้วยเอกสารตามที่กฎหมายกำหนด เช่น แผนการปลูก โดยยื่นคำที่สำนักงาน อย. กระทรวงสาธารณสุข

-เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พิจารณาอนุญาตให้ปลูกกัญชาโดยความเห็นชอบของกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ

*ผู้ขออนุญาต ได้แก่ (1) หน่ายงานของรัฐ (2) สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่มีการสอน วิจัย ทางการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์ (3) ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น สหกรณ์การเกษตร, วิสาหกิจขุมชน, วิสาหกิจสังคม ที่อยู่ภายใต้หน่วยงานของรัฐ หรือสถาบันอุดมศึกษา (4) ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (เภสัชกรรม ทันตกรรม การแพทย์แผนไทย หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมาย) ทั้งนี้ กลุ่มบุคคลในข้อ 2, 3 และ 4 ต้องดำเนินการร่วมกับหน่วยงานรัฐ (ข้อ 1)


สารสกัดจากพืชกัญชามีประโยชน์ในการรักษาโรคอย่างไร



กัญชามีสารประกอบเรียกว่า Cannabinoids จำนวนมาก โดยมีตัวหลัก คือ THC (Tetrahydrocannabidiol) และ CBD (Cannabidiol) ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ คือ ฤทธิ์ของ THC ต่อจิต ประสาท ทำให้ผ่อนคลาย นอนหลับ ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และ กระตุ้นให้อยากอาหาร ส่วน CBD มีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบ ลดอาการชักเกร็ง และมีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้องอกหลายชนิดในหลอดทดลอง


โรค/ภาวะอาการที่สามารถใช้กัญชาได้



6 โรค/ภาวะอาการ ที่สารกัญชาได้ประโยชน์ในการรักษา โดยมีข้อมูลวิชาการสนับสนุนชัดเจน

-ภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด

-โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา

-ภาวะปวดประสาทส่วนกลาง ที่ใช้วิธีรักษาอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล

-ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง ในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

-ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วย AIDS ที่มีน้ำหนักน้อย

-การเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง หรือผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต

4 กลุ่มโรค/ภาวะ ที่น่าจะได้รับประโยชน์จากสารกัญชา แต่ยังต้องการงานวิจัยสนับสนุนเพิ่มเติม

-โรคพาร์กินสัน

-โรคอัลไซเมอร์

-โรคปลอกประสาทอักเสบอื่นๆ (ที่ไม่ใช่ปลอกประสาทเสื่อมแข็ง)

-โรคอื่นๆ ที่มีข้อมูลสนับสนุนทางวิชาการว่าน่าจะได้รับประโยชน์


สิ่งที่ผู้ป่วยเริ่มใช้สารสกัดกัญชาต้องรู้



เข้าใจข้อมูลเรื่องสารกัญชาก่อนการรักษา : สารสกัดกัญชาไม่ใช่ทางเลือกแรก ในการรักษา, ใช้รักษาเสริมจากการรักษาตามมาตรฐาน มิใช่หยุดการรักษาที่มีอยู่, ผู้ป่วยต้องเข้าใจถึงประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น, การใช้สารสกัดกัญชาที่ได้มาตรฐานและทราบอัตราส่วนสารสำคัญ (THC และ CBD) ที่ชัดเจน

-เมื่อเริ่มใช้สารสกัดกัญชา : ควรเริ่มในปริมาณที่น้อยที่สุด หากยังไม่ได้ผล ปรับเพิ่มในปริมาณช้าๆ, ควรมีผู้ดูแลอยู่ด้วยเมื่อเริ่มใช้ หากเกิดผลข้างเคียง ให้รีบนำผู้ป่วยพบแพทย์ทันที, การให้สารสกัดกัญชาในครั้งแรก ควรให้เวลาก่อนนอนและมีผู้ดูแลใกล้ชิด

-แจ้งให้แพทย์ทราบว่าใช้ยาประเภทใดอยู่ : สารสกัดกัญชาอาจส่งผลต่อยาบางชนิดที่ผู้ป่วยใช้เป็นประจำ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย



ตำราแผนแพทย์ไทยที่ผสมยากัญชามีอะไรบ้าง



ข้อมูลในตำราพระโอสถพระนารายณ์ และตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ พบตำรับยาไทยที่เข้ากัญชาอยู่หลายตำรับ ตัวอย่างเช่น

ตำรับศุขไสยาศน์ สรรพคุณช่วยให้นอนหลับสบาย แก้ปวด เจริญอาหาร นำมาใช้ทดแทน/เสริมกับยาแผนปัจจุบันในกลุ่มยานอนหลับ ยาคลายเครียด

ตำรับทำลายพระสุเมรุ มีฤทธิ์ช่วยแก้อาการแข็งเกร็งจากอัมพฤกษ์ อัมพาต

ตำรับน้ำมันสนั่นไตรภพ ช่วยเรื่องท้องมาน ท้องบวม คลายลมในท้อง ท้องอืดจากโรคมะเร็งตับ ใช้ทาบริเวณท้อง

ตำรับทัพยาธิคุณ ช่วยเรื่องโรคเบาหวาน ลดน้ำตาล

(ที่มา : นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย)




ข้อมูล Thai FDA Cannabis  /  กระทรวงสาธารณสุข 


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง