รีเซต

แจก Tablet 2567 บทเรียนราคาแพง สู่ความหวังใหม่?

แจก Tablet 2567  บทเรียนราคาแพง สู่ความหวังใหม่?
TNN ช่อง16
18 พฤศจิกายน 2567 ( 19:35 )
5
แจก Tablet 2567  บทเรียนราคาแพง สู่ความหวังใหม่?

ช่วงนี้แวดวงการศึกษาคึกคักขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อกระทรวงศึกษาธิการเร่งเครื่องนโยบายแจกอุปกรณ์การเรียนรู้ ซึ่งถือเป็นการกลับมาของนโยบายที่เคยโด่งดังในอดีต แต่ครั้งนี้มาในรูปแบบที่แตกต่างออกไป


ย้อนกลับไปเมื่อ 12 ปีก่อน ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติการศึกษาด้วยเทคโนโลยี ผ่านโครงการ One Tablet PC Per Child (OTPC) งบประมาณ 2,000 ล้านบาท แจกแท็บเล็ตให้เด็ก ป.1 กว่า 8.5 แสนเครื่อง แต่ความหวังกลับพังทลายเมื่อมีการยกเลิกสัญญาวงเงิน 4,611 ล้านบาท และถูกระงับไปพร้อมกับการรัฐประหารในปี 2557


ถัดมาในยุครัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้เคยมีความพยายามฟื้นโครงการในช่วงโควิด-19 เพื่อรองรับการเรียนออนไลน์ แต่ก็ไม่ได้เดินหน้า จนกระทั่งพรรคเพื่อไทยหยิบยกประเด็นนี้มาเป็นนโยบายหาเสียง "Free tablet for all" ในการเลือกตั้งปี 2566 พร้อมขยายขอบเขตให้ครอบคลุมทั้งนักเรียนและครู


ผ่านมาถึงช่วงสั้นๆ ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน นโยบายนี้ได้ถูกวางรากฐานใหม่ เริ่มจากการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อ 11 กันยายน 2566 เน้นการจัดหาอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับผู้เรียน ตามด้วยการประกาศนโยบาย "Anywhere Anytime" โดย รมว.ศธ. ในวันที่ 14 กันยายน 2566


มาถึงยุคปัจจุบันภายใต้รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร โครงการได้ถูกยกระดับเป็นแผนปฏิรูปการศึกษาเต็มรูปแบบ แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรกพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัลด้วยงบ 482 ล้านบาท และระยะที่ 2 จัดหาอุปกรณ์การเรียนรู้ด้วยงบมหาศาลกว่า 22,102 ล้านบาท


จุดที่น่าสนใจคือ ครั้งนี้กระทรวงศึกษาฯ เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายจาก ป.1 เป็นมัธยมปลาย และปรับจากการซื้อขาดมาเป็นระบบเช่า 5 ปี พร้อมระบบซ่อมบำรุงและแผนส่งต่อระหว่างรุ่น เพื่อความยั่งยืนของโครงการ


ล่าสุด นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เผยว่า อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อกำหนดสเปกอุปกรณ์ โดยเปิดกว้างทั้งแท็บเล็ต ไอแพด โน้ตบุ๊ก และโครมบุ๊ก เน้นให้แบรนด์ดังระดับโลกเข้ามาแข่งขัน ด้วยค่าเช่าเดือนละ 420 บาท รวมค่าอินเทอร์เน็ตผ่านซิมการ์ด


สิ่งที่น่าจับตาคือ การทำงานครั้งนี้เน้นพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ควบคู่ไปด้วย มีการจัดทำคอนเทนต์ทั้งรูปแบบเก่าและใหม่รวมกว่า 15,000-20,000 รายการ คาดว่าจะเริ่มนำร่อง 600,000 เครื่องในปี 2568 และพร้อมใช้งานในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567


นับเป็นบททดสอบครั้งใหม่ของนโยบายแจกอุปกรณ์การเรียนรู้ ที่แม้จะมีบทเรียนจากความผิดพลาดในอดีต แต่ด้วยงบประมาณมหาศาล ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการบริหารจัดการที่รัดกุมและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง



ภาพ Freepik 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง