รีเซต

ผลการศึกษาเผย 'ล็อกดาวน์' ทำมลพิษทางอากาศลด ส่งผลให้คนป่วยตายลดลงด้วย

ผลการศึกษาเผย 'ล็อกดาวน์' ทำมลพิษทางอากาศลด ส่งผลให้คนป่วยตายลดลงด้วย
มติชน
30 เมษายน 2563 ( 15:07 )
63
ผลการศึกษาเผย 'ล็อกดาวน์' ทำมลพิษทางอากาศลด ส่งผลให้คนป่วยตายลดลงด้วย

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ผลการวิจัยของศูนย์วิจัยพลังานและอากาศสะอาด (ซีอาร์อีเอ) ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 เมษายน ระบุว่า จากมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศของยุโรป อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตทั่วยุโรปในเดือนเมษายนปีนี้ น้อยกว่าปีก่อนหน้าถึง 11,000 คน อันเนื่องมาจากมลพิษที่เกิดจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ลดน้อยลงอย่างมาก

ทั้งนี้ มาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ได้ทำให้เศรษฐกิจของภูมิภาคชะลอตัวลง และมีการใช้พลังงานลดน้อยลงเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งการใช้น้ำมันที่ลดลงถึง 1 ใน 3 เช่นเดียวกับทั่วโลกที่มีการใช้น้ำมันที่ลดน้อยลงเช่นกัน ขณะเดียวกัน โรงงานต่างๆที่ถูกปิด และการใช้รถยนต์ ยานพาหนะต่างๆที่น้อยลง ทำให้อากาศสะอาดมากขึ้น

รายงานของซีอาร์อีเอ ระบุว่า ระดับของไนโตรเจน ไดออกไซด์ และฝุ่น พีเอ็ม 2.5 ซึ่งมลพิษทางอากาศทั้งสองอย่างที่เกิดจากการเผาไหม้ถ่านหิน น้ำมันและแก๊ส ได้ลดน้อยลงไป 37 และ 10 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ

ลอรี มิลลีเวอร์ตา หัวหน้าทีมวิจัย นักวิเคราะห์อาวุโส ของซีอาร์อีเอ เปิดเผยกับเอเอฟพีว่า ผลกระทบเกิดขึ้นเหมือนๆกัน หรือมากกว่า ในหลายส่วนของโลก อย่างเช่น ในประเทศจีน ปรากกว่าในช่วงมาตรการล็อกดาวน์ ระดับของไนโตรเจน ไดออกไซด์ และระดับ พีเอ็ม2.5 ลดลงไป 25 และ 40 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ขณะที่ในมณฑลหูเป่ย์ ต้นกำเนิดของโควิด-19 มีระดับมลพิษทั้งสองอย่างที่ลดลงไปกว่าค่าเฉลี่ยในประเทศจีน ดังนั้น จึงอาจจะมีวิธีการที่หลีกเลี่ยงการเสียชีวิตได้มากกว่านี้

ทั้งนี้ ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งที่มีการเผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่า มลพิษทางอากาศทำให้ชีวิตของคนทั่วโลกสั้นลงโดยเฉลี่ยเกือบ 3 ปี และยังเป็นสาเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนกำหนดถึง 8.8 ล้านคนต่อปี ขณะที่องค์การอนามัยโลก (ฮู) คำนวนว่าจะอยู่ที่ 4.2 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นการประเมินค่าต่ำไปสำหรับผลกระทบอันเกิดจากโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ
โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดในเอเชีย คือประเทศจีนที่มลพิษทางอากาศทำให้อายุของผู้คนสั้นลงเฉลี่ย 4.1 ปี ส่วนอินเดีย สั้นลง 3.9 ปี และปากีสถานสั้นลง 3.8 ปี ขณะที่ผู้คนในยุโรปอายุสั้นลง 8 เดือน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง