คลังดัน Entertainment Complex เข้าครม.พ.ค.นี้
#ทันหุ้น - คลังเตรียมชง Entertainment Complex เข้าสู่ที่ประชุมครม.ภายในพ.ค.นี้ ยันรายได้หลักมาจากสถานบันเทิงไม่ใช่คาสิโน ขณะที่ การพนันผิดกฎหมายจะลดลง ด้านดิจิทัลวอลเล็ตถือเป็นนโยบายกึ่งการคลังยืมเงินธ.ก.ส.มาใช้ก่อนได้
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าของนโยบาย Entertainment Complex ว่า ตนได้นำผลศึกษาของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ศึกษาเรื่องนี้ ให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบแล้ว เมื่อช่วงก่อนสงกรานต์ โดยครม.มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ไปจัดทำรายละเอียด เสนอกลับมาภายใน 30 วัน หรือภายในเดือนพ.ค.นี้เช่น รูปแบบของสถาบันเทิงครบวงจร ผลกระทบ ร่วมถึง การยกร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร
สำหรับแง่รายได้ที่จะเข้าประเทศจากนโยบายนี้ รายได้หลักไม่ได้มาจากการเล่นการพนัน แต่มาจากองค์ประกอบอื่นๆ เช่น การมีโรงแรง หรือสถานบันเทิงอื่นๆ ตัวอย่างในสิงคโปร์ พื้นที่ที่เป็น Gaming มีเพียง 3-5% ของพื้นที่ทั้งหมดของโครงการ Entertainment complex
ส่วนกรณีสิงคโปร์ เมื่อเปิดให้มีคาสิโนถูกกฎหมายแล้ว ส่งผลให้การพนันที่ผิดกฎหมายลดลงจาก 10 % ลงเหลือไม่ถึง 1 % ขณะที่ รายได้ที่เข้าหาประเทศ เพิ่มสูงขึ้น โดยรายจ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาใช้จ่ายในสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้าที่จะมีคาสิโนถูกกฎหมาย ถึง 40 –50% ซึ่งกรณีประเทศไทย ก็เชื่อว่าจะการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศ ก็น่าจะเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน
ทั้งนี้ กรณีที่รัฐบาลจะขอยืมเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)ส่วนหนึ่ง ราว 1.72 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยอาศัยมาตรา 28 แห่งพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยสามารถทำได้ตามกฎหมาย โดยถือเป็นนโยบายกึ่งการคลัง (Quasi Fiscal) อย่างไรก็ตาม หากมีคนไม่เห็นด้วย ก็อาจส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ
สำหรับในประเด็นที่ว่า เงินดิจิทัลอลเล็ตจะสามารถซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อได้หรือไม่นั้น นายจุลพันธ กล่าวว่า ร้านสะดวกซื้อมีหลายขนาด ทั้งที่เป็นของร้านค้าขนาดใหญ่ และร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก เช่น ของอากง อาม่า แต่รัฐบาลไม่สามารถเลือกปฏิบัติได้ ดังนั้น จึงกำหนดเพียงว่า สามารถนำไปซื้อสินค้าได้ ตั้งแต่ร้านสะดวกซื้อลงมา
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง จะต้องนำมติของคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตเข้าสู่การพิจารณาของครม.เพื่ออนุมัติให้ดำเนินโครงการนี้ โดยจะเสนอครม.ภายในเมษายนนี้ โดยหากดิจิทัลวอลเล็ตประสบความสำเร็จ จะเป็นเครื่องมือทางการคลัง อันใหม่ของโลก
“ถ้าประสบความสำเร็จ จะเป็นอะไรที่ใหม่สำหรับโลกในการผลิตนโยบายการคลัง” นายจุลพันธ์ กล่าว
สำหรับดิจิทัลวอลเล็ตถือเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ซึ่งระบบเศรษฐกิจไทย มีอาการซึมมาอย่างยาวนาน เหมือนกบค่อยๆ ถูกต้ม วันนี้จำเป็นต้องสตาร์ทเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถโงหัวขึ้นมาได้ ซึ่งนอกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว รัฐบาลยังมีมาตรการอื่นๆ อีกด้วย เช่น มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ,การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็นต้น
นโยบายการแจกเงินของรัฐบาล ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะหลายๆ ประเทศในโลกก็มีนโยบายเช่นนี้ หรือเรียกว่าเป็น Helicopter Money และประเทศไทยในอดีตก็เคยใช้มาแล้ว เช่น โครงการไทยเข้มแข็ง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับการแจกเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล นอกจากจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศแล้ว ในอนาคตรัฐบาลจะใช้เครื่องมือนี้ในการกำหนดนโยบายการคลัง ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่รัฐต้องการ เพื่อให้การใส่เงินเข้าสู่ระบบ ให้เกิดผลตามที่รัฐบาลต้องการ