รีเซต

ปริญญา แนะ 7 ข้อเสนอ ชง 'ประยุทธ์' แก้ปัญหาการเมือง เพื่อประโยชน์ 'ถอยคนละก้าว'

ปริญญา แนะ 7 ข้อเสนอ ชง 'ประยุทธ์' แก้ปัญหาการเมือง เพื่อประโยชน์ 'ถอยคนละก้าว'
มติชน
25 ตุลาคม 2563 ( 15:27 )
84

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกแถลงการณ์นายกรัฐมนตรี โดยระบุว่าขอถอยคนละก้าว เพื่อให้ออกห่างจากทางที่จะนำไปสู่ปากเหวนั้น

 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวผ่านเฟซบุ๊ก ว่า ในฐานะนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ ควรต้องทำสิ่งใด แก้ไขรัฐธรรมนูญ- ยุบสภา-ลาออก เพื่อแก้ปัญหาทางการเมือง ตามที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอให้มีการ “ถอยคนละก้าว” เพื่อแก้ไขปัญหาการชุมนุมที่กำลังกดดันรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ โดย พล.อ.ประยุทธ์แถลงว่า จะนำข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมเข้าสู่การหารือของรัฐสภาในวันที่ 26 ตุลาคม 2563 นั้น เพื่อประโยชน์ในการ “ถอยคนละก้าว” ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ควรต้องเป็นผู้นำในการถอย ผู้เขียนมีประเด็นที่ขอนำเสนอดังต่อไปนี้

 

นายปริญญา กล่าวว่า 1.การแก้ปัญหาต้องแก้ที่ต้นเหตุ ต้นเหตุของชุมนุมคือการสืบทอดอำนาจของ คสช. และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทเฉพาะกาลที่ให้ คสช.ให้เป็นผู้เลือก ส.ว.ชุดแรกที่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำให้ พล.อ.ประยุทธ์สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีต่อได้หลังจากการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 มาจนถึงปัจจุบัน หาก คสช.ไม่สืบทอดอำนาจก็จะไม่มีการประท้วงหรือการชุมนุมเช่นนี้ การชุมนุมถ้าหากมีก็จะเป็นเรื่องอื่น และจะเป็นการประท้วงนายกรัฐมนตรีคนอื่นที่ไม่ใช่พลเอกประยุทธ์

 

“การที่คณะรัฐประหารมีอำนาจเลือก ส.ว.ชุดแรกตามรัฐธรรมนูญใหม่นั้น เป็นเรื่องที่คณะรัฐประหารทำมาแทบทุกยุคทุกสมัย แต่ไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับใดให้ ส.ว.ที่มาจากคณะรัฐประหาร มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีมาก่อนเลย ดังนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พลเอกประยุทธ์ควรต้อง “ถอย” เป็นก้าวแรก คือแก้ปัญหาที่ต้นเหตุด้วยการถอยไปก่อนหน้าการยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 ที่รัฐธรรมนูญให้สภาผู้แทนราษฏรเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหลักการของระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาที่ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลผ่านการเลือก ส.ส. โดยประชาชนทุกคนมีเสียงเท่ากัน ไม่ว่าจะเห็นต่างกันเพียงใด ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี และพรรคการเมืองไหนจะเป็นรัฐบาล จะจบที่หีบบัตรเลือกตั้ง ไม่ใช่ประชาชนเลือกตั้งไป คสช.ก็เป็นนายกรัฐมนตรีและสืบทอดอำนาจได้อยู่ดีเช่นนี้

 

“ในปี 2534 คณะรัฐประหารในชื่อคล้ายคลึงกันคือ ‘คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ’ หรือ รสช. เคยถอยในเรื่องนี้มาแล้ว ด้วยการตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปจากร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 เมื่อมีนิสิตนักศึกษาประท้วงต่อต้านในขณะนั้น ซึ่งในขณะนี้มีคนประท้วงเรื่องนี้มากกว่าในปี 2534 แล้ว คสช.ก็ควรต้องถอยเรื่องอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรีเช่นกัน ซึ่งจะเป็นสัญญาณว่า คสช.จะยุติการสืบทอดอำนาจ และจะทำให้สถานการณ์เขม็งตึงทางการเมืองคลายออก และจะนำมาสู่การสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาระยะยาวโดยวิถีทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพิจารณาเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การร่างใหม่ทั้งฉบับต่อไป” นายปริญญากล่าว

 

นายปริญญากล่าวว่า 2. รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่มีคนต่อต้านไม่น้อยกว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 ไปแล้ว รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 นั้นนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดในเดือนพฤษภาคม 2535 หลังเหตุการณ์นองเลือดต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนำไปสู่การร่างใหม่ทั้งฉบับ เกิดเป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ในเวลาต่อมา รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งมีที่มาจากการยึดอำนาจเหมือนกัน มีปัญหามากกว่าด้วยซ้ำ เพราะในปี 2534 ยังไม่มีองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ ที่คณะรัฐประหารจะไปยุ่งเกี่ยวกับการสรรหาได้ดังเช่นในปัจจุบันนี้

 

นายปริญญา กล่าวว่า องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญนั้นเริ่มเกิดในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 โดยให้วุฒิสภาที่ประชาชนเลือกโดยตรงเป็นผู้เลือกองค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่พอรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ให้ ส.ว.ชุดแรกมาจาก คสช. โดยมีอำนาจเหมือน ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งคือให้ความเห็นชอบองค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็ทำให้ คสช. ไปเกี่ยวข้องกับการสรรหาโดยผ่าน ส.ว. และเกิดปัญหาเรื่องการตรวจสอบและความเชื่อถือที่มีต่อองค์กรอิสระ ความจริงเรื่องนี้เป็นปัญหามาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ของ คสช. ที่ให้ สนช.เป็นผู้ให้ความเห็นชอบองค์กรอิสระแล้ว ซึ่งถ้าจะกล่าวว่า ส.ว.ชุดแรกคือ สนช.แปลงร่างมา ก็ไม่ผิดความจริงไปนัก

 

“นอกจากนี้แล้วรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ยังเป็นรัฐธรรมนูญที่มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศไปถึง 20 ปี โดยไม่มีการมีส่วนร่วมของประชาชนเลย รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จึงมีปัญหายิ่งกว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 ที่สุดท้ายต้องร่างใหม่ทั้งฉบับ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่มีปัญหายิ่งกว่าจึงน่าจะหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องมีการร่างใหม่ทั้งฉบับเช่นกัน และควรทำโดยที่ไม่ต้องให้มีการนองเลือดก่อน

 

“สำหรับประเด็นที่มีการให้เหตุผลว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ผ่านการลงประชามติ จึงไม่อาจจะแก้ไขหรือร่างใหม่ เป็นเหตุผลที่ไม่มีน้ำหนักแต่ประการใด เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มีผู้ออกเสียงให้ผ่านเพียง 61 % และคำถามพ่วงที่ทำให้ ส.ว.ชุดแรกมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี ก็ผ่านด้วยคะแนนเพียง 57 % เท่านั้น ถามว่าในขณะนั้นประชาชนที่ลงคะแนนเห็นชอบ ที่ไม่ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญ แต่ออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการเลือกตั้งและบ้านเมืองเดินหน้าต่อ มีมากกว่า 11 % หรือไม่ ซึ่งเป็นไปได้มาก เพราะมิได้มีการกำหนดไว้ว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติแล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปและจะมีการเลือกตั้งเมื่อใด และที่สำคัญรัฐธรรมนูญนั้นแก้ไขได้ และร่างใหม่ได้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ก็ผ่านประชามติ คสช.ยังฉีกทิ้งได้โดยไม่สนใจว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติมาแล้วเลย

 

“3.การยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่นั้นเป็นทางออกทางหนึ่ง เพราะจะเป็นทางลงให้พลเอกประยุทธ์ได้ ทั้งนี้โดยต้องไม่รับเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองใดอีก แต่ปัญหาคือถ้ายุบสภาอย่างเดียวผู้คนจะยังไม่วางใจว่า คสช.จะยุติการสืบทอดอำนาจจริงๆ เพราะตราบใดที่ ส.ว.ชุดแรกยังมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี คสช.ก็ยังกลับมามีอำนาจใหม่ได้ ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรีจึงเป็นเรื่องเฉพาะหน้าที่ควร “ถอย” เป็นการเร่งด่วน แม้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องใช้เสียงอย่างน้อย 1 ใน 3 ของ ส.ว. คือ 84 เสียงจาก 250 เสียง และยากที่ ส.ว.จะแก้รัฐธรรมนูญตัดอำนาจตนเอง แต่ถ้าพลเอกประยุทธ์ยอมที่จะแก้ไขเรื่องนี้ เชื่อว่าจำนวน ส.ว. 84 เสียงไม่ใช่เรื่องยากแต่ประการใดแม้แต่น้อย

 

“4.การลาออกจากตำแหน่งก็เป็นหนทางคลี่คลายสถานการณ์ได้ เพราะหากพลเอกประยุทธ์ไม่ต้องการถอยด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือยุบสภา ก็อาจต้องถอยให้คนอื่นมาทำหน้าที่แทน ที่พลเอกประยุทธ์กล่าวว่าจะใช้รัฐสภาเป็นเวทีแก้ปัญหา ไม่ควรเป็นเพียงการโยนปัญหาออกไปจากตัว และให้รัฐสภาถกเถียงกันโดยไม่เกิดการแก้ปัญหาอะไร เพราะผู้ชุมนุมประท้วงพลเอกประยุทธ์ มิใช่ประท้วงรัฐสภา และที่สำคัญที่สุดพลเอกประยุทธ์มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนและมีเสียงทั้งหมดในวุฒิสภา จึงสามารถใช้รัฐสภาในการแก้ปัญหาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

“5. นอกจากนี้แล้ว มีประเด็นละเอียดอ่อนประการสำคัญที่ควรต้องแก้ไขทันทีคือ พล.อ.ประยุทธ์ต้องไม่พูดหรืออ้างในทำนองให้คนเข้าใจว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นแบ๊กให้ตนเอง หลักการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขคือ The King Can Do No Wrong หรือพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ต้องยึดมั่นหลักการนี้และปกป้องสถาบันด้วยการออกหน้าและรับผิดชอบ ไม่ใช่ทำในสิ่งดูเหมือนกันตรงกันข้ามอย่างทุกวันนี้ ซึ่งเป็นการทำให้ประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐบาลขัดแย้งกับสถาบัน และประชาชนที่เห็นต่างกันขัดแย้งกัน และที่สำคัญคือพล.อ.ประยุทธ์ต้องแก้ปัญหาในทางการเมืองโดยเร็วที่สุด เพื่อมิให้สถานการณ์ลุกลามมากไปกว่านี้” นายปริญญากล่าว

นายปริญญา กล่าวว่า 6.พล.อ.ประยุทธ์คงไม่ลืมไปแล้วว่า ท่านเป็น ผบ.ทบ.ในขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกประท้วงให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และท่านได้ยึดอำนาจซึ่งทำให้ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีมาจนถึงทุกวันนี้ ในวันนั้นท่านสัญญากับประชาชนไว้ว่า #ขอเวลาอีกไม่นานความสุขจะคืนมา บัดนี้เวลาผ่านไป 6 ปีแล้ว เราก็ยังไม่เห็น ‘ความสุขที่กลับคืนมา’ นอกจากรัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจ การตรวจสอบถ่วงดุลที่แย่ลง ความขัดแย้งในสังคมในเรื่องสถาบัน และการกลับมามีการประท้วงขับไล่นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยที่วันนี้ท่านเป็นผู้ถูกประท้วงเอง ระยะเวลา 6 ปีนั้นยาวนานกว่าอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และแม้กระทั่งอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ไปแล้ว

นายปริญญา กล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลจะมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฏรแบบไม่ปริ่มน้ำแล้ว และมีเสียงในวุฒิสภาทั้งหมด แต่รัฐบาลไม่ได้มีเสถียรภาพมากอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะเสียงข้างมากในสภาผู้แทนเป็นเสียงข้างมากแบบมีความง่อนแง่น เนื่องจากหากมีพรรคขนาดกลางพรรคหนึ่งพรรคใดถอนตัว ก็มีเพียงพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลที่เป็นพรรคฝ่ายค้านที่มีเสียงมากพอที่จะไปเสียบแทนได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ที่พรรคหนึ่งพรรคใดในสองพรรคนี้จะไปร่วมรัฐบาลกับท่าน และโดยที่โอกาสที่จะมีพรรคถอนตัวก็มีความเป็นไปได้สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคที่ให้เหตุผลในการยกมือให้ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีว่า เข้าร่วมรัฐบาลเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะพรรคการเมืองนั้นจะถูกผู้ชุมนุมเรียกร้องกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ จนนำมาสู่การถอนตัวได้ ซึ่งเป็นโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ในเวลาไม่ช้าข้างหน้านี้ ท่านจึงควรต้องรีบแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่เกิดมาจากการสืบทอดอำนาจ คือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุบสภาหรือลาออก ดังที่ท่านอาจจะได้เคยแนะนำอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์เมื่อ 6 ปีที่แล้ว และดังที่ท่านสัญญากับประชาชนไว้ว่า ‘เราจะทำตามสัญญา ความสุขจะกลับคืนมา’ ก่อนที่สถานการณ์จะกลายไปเป็นวิกฤตการณ์จนไม่มีทางออก และประชาชนจะมีความทุกข์จากความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นอีกครั้งมากไปกว่านี้

 

“7. ท้ายที่สุดนี้เรื่องสำคัญที่เป็นเรื่องเฉพาะหน้าคือ รัฐบาลต้องไม่ใช้ความรุนแรงและไม่ใช้วิธีการสลายการชุมนุมอีก หากการชุมนุมเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ เพราะจะยิ่งทำให้เกิดการต่อต้านดังเช่นที่เกิดหลังจากการสลายการชุมนุมที่ปทุมวันในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ที่สำคัญคือรัฐบาลต้องมองว่าผู้ชุมนุมเพียงแค่มาทวงสัญญาที่พลเอกประยุทธ์ได้สัญญาไว้เมื่อ 6 ปีที่แล้ว

 

“ความรุนแรงจะไม่เกิดถ้าไม่มีฝ่ายใดเริ่มก่อน ในฐานะที่ประเทศไทยมีบทเรียนเรื่องการนองเลือดมามากแล้ว เราไม่ควรเกิดเหตุการณ์รุนแรงอีก ซึ่งเราสามารถทำได้โดยใช้กระบวนการประชาธิปไตยในการแก้ไขปัญหา รับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน และเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เราก็จะสามารถผ่านวิกฤตการณ์ และแก้ปัญหาการเมือง และแก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยไม่เกิดเหตุการณ์นองเลือดอีก” นายปริญญากล่าว

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

บิ๊กตู่ ขอถอยคนละก้าว นำปัญหาแก้ไขในสภา เตรียมยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง