ข่าวปลอม! ใช้โรลออนระงับกลิ่นกาย เสี่ยงทำให้เป็นมะเร็งเต้านม
วันนี้ (10 ต.ค.64) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย Anti-Fake News Center Thailand เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง "ใช้โรลออนเพื่อกำจัดกลิ่น เสี่ยงทำให้เป็นมะเร็งเต้านม" ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น "เป็นข้อมูลเท็จ"
ตามที่มีข้อความว่า โรลออนที่ใช้กันอยู่นั้น มีสารอลูมิเนียมคลอไฮเดรท ที่เป็นสารก่อมะเร็งเต้านมผสมอยู่ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ข้อมูลว่า จากการตรวจสอบข้อมูลวิชาการ พบว่ายังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าการใช้โรลออนระงับกลิ่นกาย (Deodorant) และระงับเหงื่อ (Antiperspirant) ส่งผลให้เกิดมะเร็งเต้านม
โดยผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายใช้ลดการเกิดกลิ่นตัวซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมีส่วนประกอบ เช่น สารลดเหงื่อ กรดเบนโซอิค สารฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และน้ำหอม เป็นต้น ส่วนผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อเป็นสารที่ใช้ลดการหลั่งเหงื่อทำให้ผิวหนัง และรูขุมขนบริเวณที่ทาอุดตัน
สารนี้มักจะมีส่วนประกอบของโลหะ เช่น อลูมิเนียมคลอไฮเดรท ซึ่งมีความกังวลว่าสารนี้อาจตกค้างที่ผิวหนังบริเวณใต้วงแขนส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันแน่ชัดว่าการใช้สารระงับเหงื่อ/สารระงับกลิ่นกายมีความเชื่อมโยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม อีกทั้งการใช้สารระงับการหลั่งเหงื่อเป็นการใช้ในช่วงเวลาสั้นๆ และใช้เฉพาะจุดซึ่งเหงื่อยังคงถูกขับออกบริเวณอื่นของร่างกายได้จึงไม่ก่อให้เกิดอันตราย
ทั้งนี้ แนะนำให้ควรดูสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์โรลออน เช่น น้ำหอม สารกันบูด เพื่อสังเกตอาการแพ้หรืออาการระคายเคืองต่าง ๆ บริเวณผิวหนัง นอกจากนี้ในผู้ที่มีกลิ่นตัวมากควรรักษาสุขอนามัยให้สะอาด และอาบน้ำด้วยสบู่ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุกลิ่นตัวเป็นประจำ
ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ หรือ www.nci.go.th หรือโทร. 02 2026800
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการยืนยันแน่ชัดว่าการใช้โรลออนระงับกลิ่นกาย และระงับเหงื่อส่งผลให้เกิดมะเร็งเต้านม
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ข้อมูลจาก ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย