รีเซต

'โรงเรียนสอนถ่ายภาพในค่ายผู้ลี้ภัย’ เพื่อให้ชาวโลกได้เห็น

'โรงเรียนสอนถ่ายภาพในค่ายผู้ลี้ภัย’ เพื่อให้ชาวโลกได้เห็น
TNN World
20 มิถุนายน 2564 ( 13:38 )
48

ข่าววันนี้ โรงเรียนสอนถ่ายภาพในค่ายผู้ลี้ภัย’ เพื่อให้ชาวโลกได้เห็น และรู้จักถึงวิถีชาวโรฮิงญา ผู้ไม่มีชาติใดยอมรับเป็นพลเรือน โดยผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากำลังเรียนรู้ที่จะทำงานสารคดีเชิงภาพ เกี่ยวกับวิถีชีวิต และการลงหลักปักฐานของตน จากโรงเรียนสอนถ่ายภาพในค่าย

 


โรงเรียนสร้างผู้บันทึกชีวิต


โรงเรียนสอนถ่ายภาพโอมาร์ ก่อตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020 ด้วยเป้าหมายฝึกฝนให้เยาวชนชาวโรฮิงญา ให้ทำงานในฐานะช่างภาพมืออาชีพได้ 


"ฉันอพยพมาที่บังกลาเทศเมื่อปี 2017 ตอนที่อยู่เมียนมา ฉันเห็นผู้คนถ่ายภาพ รู้สึกว่าการได้เรียนถ่ายภาพเป็นเหมือนความฝัน พออพยพมา ฉันเริ่มถ่ายภาพด้วยโทรศัพท์มือถือและแชร์ในอินเทอร์เน็ต" โอเมล คาอีร์ หนึ่งในผู้ลี้ภัย กล่าว


"ผู้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็น และกดถูกใจ ฉันมีความสุขกับมันมาก ผู้คนเริ่มรู้จักฉัน และตั้งแต่นั้นมาฉันเริ่มอยากเรียนรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพมากขึ้นอีก" 


โมฮัมหมัด ฟารูค เป็นผู้ฝึกสอนหลักของโรงเรียนสอนถ่ายภาพโอมาร์ บางเวลาเขาทำงานเป็นผู้ควบคุมกองถ่ายและเป็นช่างภาพให้กับสื่อต่างประเทศ และใช้เวลาว่างมาสอนในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้

 


สานต่อปณิธานน้องชายที่จากไป


โมฮัมหมัด ก่อตั้งโรงเรียนนี้ร่วมกับน้องชาย ‘โอมาร์ ฟาร์รูค’ ซึ่งทำงานให้องค์กร NGO และเป็นนักข่าวที่ทำงานกับสื่อหลักอย่าง Reuters, แต่โอมาร์เสียชีวิตไปเมื่อเดือนพฤษภาคมปีก่อน โรงเรียนนี้จึงตั้งชื่อตามเขาเพื่อเป็นอนุสรณ์


“เราอยากฝึกฝนให้เยาวชนโรฮิงญาถ่ายวิดีโอและภาพ เราอยากเก็บสารคดีความเป็นอยู่ชาวโรฮิงญา เมื่อเรากลับไปเมียนมาร์ เราจะได้แสดงให้คนรุ่นลูกหลานดูว่า ชีวิตในค่ายของพวกเราเป็นยังไง” โมฮัมหมัดกล่าว
ชาวมุสลิมโรฮิงญามีถิ่นฐานในเมียนมา แต่อยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อย รัฐบาลเมียนมาไม่ยอมรับพวกเขาเป็นพลเรือน ทั้งชาวพุทธซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของเมียนมายังมองพวกเขาเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ 


ชาวโรฮิงญาเกือบล้านคนใช้ชีวิตในค่ายทุรกันดารบนเขตชายแดนของเมืองค็อกส์บาซาร์ ในบังกลาเทศ ซึ่งเป็นค่ายผู้อพยพขนาดใหญ่ที่สุดในโลก นับตั้งแต่พวกเขาลี้ภัยจากการกวาดล้างโดยกองทัพเมียนมาในรัฐยะไข่ ตลอดช่วงสี่ปีที่ผ่านมา

 


เพื่อนักเรียนช่างภาพผู้ลี้ภัย


ปัจจุบัน โมฮัมหมัดสอนนักเรียนที่มีอายุ 20 ต้น ๆ ราว 12 คน และมีผู้สอนอีก 2 คนจากค่ายผู้ลี้ภัยคอยช่วยเหลือ 


“ผมอยากเป็นช่างภาพมืออาชีพ ถึงได้พยายามเรียนรู้ ผมอยากแสดงให้ทั้งโลกได้เห็นว่า ที่นี่เราอยู่กันยังไง” จามาล อาราคานี ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา อายุ 22 ปี บอกกับนักข่าว


"เมื่อได้เข้าเรียนที่โรงเรียนสอนถ่ายภาพ ฉันหวังว่าจะได้เป็นช่างภาพหลักในอนาคต” โอเมล คาอีร์ นักเรียนจากโรงเรียนสอนถ่ายภาพอีกคนกล่าว


ปัจจุบัน โรงเรียนนี้ยังคงเปิดสอนโดยมีนักเรียนเข้าร่วมจากการบอกปากต่อปาก โดยจัดอบรมทุกสัปดาห์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย  โมฮัมหมัดหวังจะเพิ่มจำนวนนักเรียนของเขาให้มากขึ้นและเพิ่มจำนวนกล้องให้กับโรงเรียนในอนาคตด้วย

 

เรื่อง : นราธร เนตรากูล
ภาพ : Reuters

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง