รีเซต

แพทย์ผิวหนังเตือน "ฝีดาษลิง" เป็นโรคติดต่อจากสัตว์ที่พบไม่บ่อย แต่อันตรายถึงชีวิต

แพทย์ผิวหนังเตือน "ฝีดาษลิง" เป็นโรคติดต่อจากสัตว์ที่พบไม่บ่อย แต่อันตรายถึงชีวิต
TNN ช่อง16
22 พฤษภาคม 2565 ( 15:01 )
179

วันนี้ (22 พ.ค.65) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า รายงานสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสฝีดาษลิงที่กำลังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในสหราชอาณาจักร มีแนวโน้มกำลังระบาดในยุโรปแล้ว พบผู้ติดเชื้อไวรัสฝีดาษในโปรตุเกส 6 ราย ในขณะที่ยังมีผู้ป่วยอีกกว่า 12 ราย ที่อยู่ระหว่างการตรวจวินิจฉัยว่าจะติดเชื้อฝีดาษลิงหรือไม่ 

ซึ่งการระบาดของเชื้อไวรัสฝีดาษลิง มีลักษณะการติดต่อแบ่งเป็นจากสัตว์สู่มนุษย์ พบว่าสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสทางผิวหนัง หรือเยื่อเมือกเช่น จมูก ปาก หรือตา กับสัตว์ที่ป่วยเป็นโรค สารคัดหลั่ง เลือด ผิวหนัง หรือ การนำซากสัตว์ป่วยมาปรุงอาหาร

รวมทั้งการถูกสัตว์ป่วย ข่วน กัด หรือสัมผัสเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อจากสัตว์นั้น ส่วนการติดต่อจากมนุษย์สู่มนุษย์ทางหลักติดต่อผ่านละอองฝอยทางการหายใจขนาดใหญ่ จากการอยู่ใกล้ผู้ป่วยในระยะประชิด การสัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย การสัมผัสเลือด หรือรอยโรคที่ผิวหนัง หรือ ของใช้ส่วนตัวที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย หลังได้รับเชื้อโรคนี้มีระยะฟักตัว 7-14 วัน หรืออาจนานได้ถึง 21 วัน

ด้าน พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จะเริ่มต้นจากอาการมีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และมีต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งข้อแตกต่างระหว่างฝีดาษลิงและฝีดาษ คือในฝีดาษจะไม่มีอาการต่อมน้ำเหลืองโตเช่นเดียวกับในฝีดาษลิง ภายใน 1-3 วัน 

หลังจากมีอาการดังกล่าว จะเริ่มมีผื่นขึ้นโดยเริ่มมีผื่นบริเวณใบหน้าแล้วลามไปที่ผิวหนังส่วนอื่น จากผื่นจุดแดง นูนขึ้นเป็นตุ่ม แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำ และตุ่มหนอง และแตกออกเป็นสะเก็ดในที่สุด 

การดำเนินโรคจะใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ โดยประมาณโดยมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 10 % โดยมีสาเหตุจากภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อในปอด การขาดน้ำและภาวะสมองอักเสบ 

การตรวจทางห้องปฏิบัติการใช้การตรวจด้วยวิธี PCR ของเหลวจากตุ่มน้ำที่ผิวหนัง รักษาโดยให้ยาต้านไวรัส cidofovir , Tecovirimat, brincidofovir การป้องกันปัจจุบันมีวัคซีนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในการป้องกันโรคฝีดาษลิงในสหรัฐอเมริกา คือ JYNNEOS

 สำหรับการป้องกันเบื้องต้นสำหรับประชาชนทั่วไป แนะนำให้ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือ แอลกอฮอล์เจล งดรับประทานของป่า หรือปรุงอาหารจากสัตว์ป่า หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่าที่มาจากพื้นที่เสี่ยง หรือสัตว์ป่าป่วย และหลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่มีประวัติมาจากพื้นที่เสี่ยงและมีอาการ

ในกรณีที่พบผู้สงสัยว่าจะติดเชื้อฝีดาษลิง แนะนำให้แยกผู้ป่วย ป้องกันระบบทางเดินหายใจของผู้ใกล้ชิด และนำส่งสถานพยาบาลที่สามารถแยกกักตัวผู้ป่วยได้ หลีกเลี่ยงการเลี้ยง หรือนำเข้าสัตว์ป่าจากต่างประเทศที่ไม่ทราบประเทศต้นทาง.


ข้อมูลจาก กรมการแพทย์

ภาพจาก แฟ้มภาพ AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง