รีเซต

หมอยงคลายข้อข้องใจ ‘วัคซีนโควิด’ ยังจำเป็นต้องฉีดหรือไม่?

หมอยงคลายข้อข้องใจ ‘วัคซีนโควิด’ ยังจำเป็นต้องฉีดหรือไม่?
TNN ช่อง16
26 มกราคม 2567 ( 14:35 )
64

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ว่าสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน วัคซีนดังกล่าวยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ โดยระบุว่า 


วัคซีนทุกชนิดมีประโยชน์ และอาจมีอาการข้างเคียง เช่นวัคซีนโปลิโอชนิดหยอด (กิน) ใช้กันมานานกว่า 50 ปี ก็ยังมีอาการข้างเคียง เป็นวัคซีนเชื้อเป็น หยอดแล้วตัววัคซีนเองยังสามารถทำให้เกิดกล้ามเนื้อลีบเป็นโปลิโอ แต่โอกาสจะเป็นหนึ่งในล้าน แต่ถ้าไม่หยอดโอกาสจะได้รับเชื้อโปลิโอและเป็นโปลิโอมากกว่ามากมาย เราก็หยอดกันมาตลอด จนโรคแทบจะหมดไป จนมาปัจจุบันเชื้อโปลิโอเหลือน้อยลงไปมาก เราจึงพยายามที่จะเปลี่ยนวัคซีนโปลิโอชนิดกิน (เชื้อเป็น) มาเป็นชนิดฉีด (เชื้อตาย) เพราะวัคซีนไม่มีโอกาสให้เด็กเป็นโปลิโอได้เลย


เช่นเดียวกันกับวัคซีนโควิด 19  ก็คงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ในอดีตที่ผ่านมาในปีแรกถ้าใครติดเชื้อโควิด-19  โอกาสลงปอดสูงมาก ถึงกับเสียชีวิตได้ 3-5%  เมื่อเทียบกับอาการข้างเคียงของวัคซีนโควิด 19 ที่มีน้อยกว่ามาก จึงทำให้วัคซีนโควิด 19 ช่วยรักษาชีวิตไว้เป็นจำนวนมากมาย 


สถานการณ์ในปัจจุบันเปลี่ยนไปเมื่อติดเชื้อโควิด - 19 ในปีนี้ โอกาสเสียชีวิตอาจจะอยู่ที่ 1 ใน 1,000 หรือน้อยกว่า ความต้องการการฉีดวัคซีนจึงเน้นไปอยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มเปราะบางที่เมื่อเป็นโควิดแล้วจะอันตรายถึงชีวิตได้มาก


ขณะที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยสถานการณ์การระบาดของโควิด -19 โดยระบุว่า พบแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น มีอัตราป่วยหนัก และเสียชีวิตสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือยังไม่ได้รับวัคซีน เข็มกระตุ้น โดย องค์การอนามัยโลก (WHO ) แนะกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบาง รับวัคซีนปีละ 1 ครั้ง ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงของการป่วยหนักและเสียชีวิต


สำหรับโควิด 19 สายพันธุ์ที่กำลังระบาดในประเทศไทย ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นสายพันธุ์โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย JN.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์รุ่นลูกของโอมิครอน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ลักษณะอาการของผู้ป่วยโควิด 19 ที่ติดเชื้อ JN.1 มีอาการคล้ายหวัด เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อย ตามตัว ปวดศีรษะ มีน้ำมูก ซึ่งยังไม่พบว่ามีระดับความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์โอมิครอนเดิมในปีที่ผ่านมา


ทั้งนี้ประชาชนไม่ควรประมาท เน้นการป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากขณะอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนรวมกันจำนวนมาก เช่น ขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล และสถานดูแลผู้สูงอายุ ล้างมือบ่อยๆ หากมีอาการคล้ายเป็นหวัด ให้ตรวจ ATK และหลีกเลี่ยงใกล้ชิดกลุ่ม 608 เมื่อตรวจพบผลบวก 2 ขีด ให้สวมหน้ากากป้องกันแพร่เชื้อ และสังเกตอาการ รีบไปพบแพทย์เมื่อมีอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก


อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกมีคำแนะนำให้ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หรือผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ยังมีความจำเป็นต้องได้รับวัคซีนโควิด 19 ในระยะเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงของการป่วยหนักและเสียชีวิต สอดคล้องกับสถานการณ์ในประเทศช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่พบว่าผู้ป่วยอาการหนัก ผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง (608) ซึ่งไม่มีประวัติได้รับวัคซีน หรือยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น


กรมควบคุมโรค จึงขอเน้นย้ำผู้ป่วยกลุ่ม 608 อาการคล้ายหวัด และมีผลตรวจ ATK เป็นบวก ให้สวมหน้ากากและรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษา พิจารณาจ่ายยาต้านไวรัสโดยเร็ว เพื่อลดโอกาสป่วยรุนแรง


ข้อมูลจาก: Yong Poovorawan

ภาพจาก:  TNN ONLINE 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง