รีเซต

ฟัง"บุญญนิตย์"ผู้ว่ากฟผ.คนที่ 15 เล่าอนาคตกฟผ.!!

ฟัง"บุญญนิตย์"ผู้ว่ากฟผ.คนที่ 15 เล่าอนาคตกฟผ.!!
มติชน
15 ธันวาคม 2563 ( 17:49 )
100
ฟัง"บุญญนิตย์"ผู้ว่ากฟผ.คนที่ 15 เล่าอนาคตกฟผ.!!

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) คนที่ 15 กล่าวถึงแนวทางการ บริหารงานของกฟผ. ว่า กฟผ.ได้วางแนวทางในการดำเนินธุรกิจเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงทั้งเทคโนโลยีและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมไฟฟ้ายุคนิว นอร์มอล ตั้งเป้าเป็นผู้ให้บริการด้านพลังงานครบวงจร เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่แตกต่างซึ่งจะมุ่งเน้น 3 เรื่องได้แก่ 1. ทำสิ่งที่มีอยู่ในมือให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 2.เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจเดิม และ3.เติบโตในธุรกิจใหม่

 

“กฟผ.ต้องปรับตัว ยึดแนวคิด EGAT for All หรือกฟผ.เป็นของทุกคน ซึ่ง ปี2563 การใช้ไฟคาดว่าลดลงประมาณ 3% และปี 2564 จะเติบโต 4% สำรองไฟที่ขณะนี้มองว่าสูงกว่า 30% ปัญหานี้จะลดลงอย่างแน่นอน “นายบุญญนิตย์กล่าว

 

นายบุญญนิตย์ กล่าวว่า การดำเนินงานมุ่ง 3 เรื่องได้แก่ 1.ทำสิ่งที่มีอยู่ในมือให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดคือ การมุ่งการพัฒนาโรงไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ภายใต้แผนนี้ กฟผ.จะพัฒนาโรงไฟฟ้าและระบบส่งคิดเป็นวงเงิน 1 ล้านล้านบาทหรือเฉลี่ย 5.6 หมื่นล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นโรงไฟฟ้า 60% และสายส่ง 40% อย่างไรก็ตามการลงทุนดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงเนื่องจากจะต้องรอการปรับปรุงแผนพลังงานจากกระทรวงพลังงานอีกครั้ง โดยโรงไฟฟ้าหลักใหม่ที่กฟผ.จะลงทุนมี 8 แห่งตามแผนจะเข้าระบบตั้งแต่ปี 2568 รวมกำลังผลิต 6,150 เมกะวัตต์และโซลาร์ลอยน้ำแบบไฮบริด 16 โครงการ 2,725 เมกะวัตต์

 

2.การเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจเดิม ประกอบด้วย การซื้อขายไฟฟ้าต่างประเทศ กำลังหารือกับกัมพูชาที่จะซื้อไฟจำนวน 300 เมกะวัตต์ จะต้องพิจารณาปรับค่าสายส่ง พิจารณาธุรกิจนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) รวมกว่า 5 ล้านตัน(แผน3ปี) และจะมุ่งไปสู่ธุรกิจต้นน้ำด้วยการพัฒนาโครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพฯแบบลอยน้ำ(เอฟเอสอาร์ยู)ในอ่าวไทยตอนบนคาดว่าไตรมาสแรกปี 2564 จะขอครม.อนุมัติแผนจัดการด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) เพื่อหาผู้รับเหมาก่อสร้าง ขณะเดียวกันยังพิจารณาเข้าถือหุ้นแหล่งผลิตแอลเอ็นจี ซึ่งจะมีการจัดตั้งบริษัทใหม่ โดยภายใน 4 ปีจากนี้จะก้าวไปสู้ต้นน้ำของแอลเอ็นจี

 

3.เติบโตในธุรกิจใหม่ ได้แก่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ประกอบด้วย การลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยปี 2564 จะลงทุนให้ครบ 31 แห่ง รวมถึงเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบเร็ว ขนาด 100 กิโลวัตต์ ธุรกิจแบตเตอรี่อัจฉริยะ ซึ่งจะติดตั้งที่โรงไฟฟ้าลำตะคอง(พลังงานลม) และโรงไฟฟ้าโซลาร์ทับสะแก ธุรกิจซื้อขายเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน

“นอกจากนี้จะมองหาโอกาสศักยภาพใหม่ๆ อาทิ การศึกษาตั้งโรงกำจัดซากแผงโซลาร์ ร่วมมือกับบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ศึกษาและจะเสนอกระทรวงพลังงานก่อสร้างเอฟเอสอาร์ยูในภาคใต้เพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้าภาคใต้” นายบุญนิตย์กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง