เปิดเหตุผลทำไม ‘ผู้ป่วยโควิดสีเขียว’ ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาต้านไวรัส
วันนี้ ( 27 ก.ค. 65 )แพทย์หญิงนฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ ระบุถึง ไวรัสโควิด-19 โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 ลักษณะของไวรัสจะเล็ก กว่าสายพันธุ์โอมิครอนก่อนหน้านี้ พอรับเชื้อไปแล้ว ก็จะลงปอดได้เร็ว มีอาการเจ็บคอบ้าง ส่วน โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.1/BA.2 ลักษณะของไวรัสจะใหญ่กว่า ชอบจับบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน จมูก คอ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอมากแต่จะลงปอดน้อย ทำให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดที่ไม่มีประวัติการรับวัคซีนหรือมีโรคประจำตัวจะทำให้อาการรุนแรงได้
พญ.นฤมลย้ำว่าผู้ป่วยโควิด-19 ไม่จำเป็นที่จะต้องกินยาต้านไวรัสทุกราย เนื่องจากการกินยาต้านไวรัสเป็นจำนวนมาก อาจส่งผลต่อร่างกาย และเชื้อดื้อยาในอนาคตได้ ส่วนกรณีการให้คลินิกเอกชนสามารถที่จะจ่ายยาต้านไวรัสให้กับผู้ป่วยโควิด-19 ได้นั้น เบื้องต้นจะเป็นการจ่ายยาตามแนวทางที่กรมการแพทย์กำหนด ขณะที่กลุ่มไม่มีอาการ หรือ ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว พบร้อยละ 65 ในกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องกินยาก็หายเองได้ ซึ่งการจ่ายยาก็เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์
สำหรับการรักษาจะแบ่งตามกลุ่มอาการของผู้ป่วย คือ
1.กลุ่มไม่มีอาการ
2.กลุ่มที่มีอาการไข้สูง ไอ เจ็บคอ กลุ่มนี้แพทย์ก็จะพิจารณาการให้ยาฟาวิพิราเวียร์
3.กลุ่ม ที่มีปัจจัยเสี่ยงหรือกลุ่ม 608 กลุ่มที่มีโรคประจำตัวร่วมหากติดเชื้อแล้วอาจจะทำให้อาการรุนแรงได้เช่นภาวะปอดอักเสบ แพทย์จะพิจารณาการให้ยาต้านไวรัส เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ แพกซ์โลวิด เรมดิสซิเวียร์
4.กลุ่มที่เชื้อลงปอดแล้ว ออกซิเจนต่ำ โดยการจ่ายยาตามสถานพยาบาล จะพิจารณาตามอาการของผู้ป่วย เป็นหลัก และปัจจัยเสี่ยงร่วมของผู้ป่วย
ข้อมูลจาก : กรมการแพทย์
ภาพจาก : AFP