รีเซต

เปิดกลุ่มเสี่ยง "โรคงูสวัด" แพทย์ผิวหนัง ชี้ป้องกันได้ด้วยวิธีฉีดวัคซีน

เปิดกลุ่มเสี่ยง "โรคงูสวัด" แพทย์ผิวหนัง ชี้ป้องกันได้ด้วยวิธีฉีดวัคซีน
TNN ช่อง16
14 กรกฎาคม 2564 ( 13:53 )
193

วันนี้ (14 ก.ค.64) กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง เผย "โรคงูสวัด" มักเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ป่วยที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้ยาเคมีบำบัด โรคงูสวัดสามารถป้องกันได้ หากสงสัยว่าเป็นโรคงูสวัด แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เนื่องจากการรักษาในช่วงแรกของโรคมีผลการรักษาที่ดีกว่า

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์  อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคงูสวัด เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ที่เรียกว่า ไวรัสวาริเซลลา (varicella virus) ซึ่งเป็นเชื้อเดียวกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคสุกใส และเป็นไวรัสที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับไวรัสเริม โดยที่ผู้ป่วยเมื่อเป็นโรคสุกใสแล้ว เมื่อหายจากโรค เชื้อไวรัสจะเข้าไปซ่อนในปมประสาท และจะถูกกระตุ้นเมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ ซึ่งไวรัสจะมีการแบ่งตัวทำให้การปล่อยเชื้อไวรัสออกมาตามแนวเส้นประสาท จะมีอาการแสดงเบื้องต้นคือปวดแสบปวดร้อนที่ผิวหนังซึ่งถูกควบคุมโดยแนวเส้นประสาทนั้น

ต่อมาจะมีผื่นแดงตามด้วยตุ่มน้ำในลักษณะเป็นกลุ่มเรียงตัวตามแนวเส้นประสาท โดยที่ตุ่มน้ำสามารถกลายเป็นตุ่มหนองและแตกเป็นแผล หรือเป็นสะเก็ดตามมาได้ หลังจากอาการทางผิวหนังหายแล้ว อาจมีอาการปวดเรื้อรังในผู้ป่วยบางราย รวมถึงอาจมีแผลเป็นตามหลังได้

การเกิดการกระตุ้นของไวรัส varicella ที่ทำให้เกิดโรคงูสวัดนั้น มักเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ป่วยที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้ยาเคมีบำบัด อาการของโรคที่พบมีความรุนแรงมากกว่าผู้ป่วยทั่วไปที่สามารถหายเองได้  ส่วนใหญ่มักมีอาการทางผิวหนัง ในบางรายที่มีตำแหน่งใบหน้า อาจจะต้องระวังโรคงูสวัดเข้าดวงตา ควรได้รับการปรึกษาจักษุแพทย์

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า งูสวัดเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน (Zoster vaccine) การฉีดวัคซีน zoster จะใช้ในผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปี วัคซีนจึงเป็นเครื่องมือใหม่สำหรับให้แพทย์เลือกใช้ 

ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า การป้องกันที่ดีที่สุด คือ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ส่วนการรักษาโรคงูสวัดนั้น มีทั้งการรักษาตามอาการ และการรักษาร่วมกับการใช้ยาต้านไวรัสเพื่อช่วยให้การหายของโรคเร็วขึ้น และให้ยาแก้ปวดปลายเส้นประสาท เพื่อป้องกันและลดความทุกข์ทรมานจากโรคงูสวัด หากสงสัยว่าเป็นโรคงูสวัด แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เนื่องจากการรักษาในช่วงแรกของโรคมีผลการรักษาที่ดีกว่า


ข้อมูลจาก กรมการแพทย์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง