รีเซต

ทีมเศรษฐกิจรัฐบาล แจง พ.รก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพียงพอดูแลประชาชน และรองรับความไม่แน่นอนโควิด-19

ทีมเศรษฐกิจรัฐบาล แจง พ.รก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพียงพอดูแลประชาชน และรองรับความไม่แน่นอนโควิด-19
TNN Wealth
26 พฤษภาคม 2564 ( 08:23 )
88

 

ข่าววันนี้ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พ.ร.ก. กู้เงิน COVID-19 ฉบับที่ 2) ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้วันนี้ (วันที่ 25 พฤษภาคม 2564) โดย พ.ร.ก. ดังกล่าวให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท ภายในวันที่ 30 กันยายน 2565 

 

 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ชี้แจงการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ว่า เป็นวงเงินที่นำมาใช้ดูแลประชาชน และผู้ประกอบการรายย่อย และการสร้างงานให้กับประชนในท้องถิ่น เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของการระบาดในอนาคตหรือการระบาดที่อาจจะต้องทอดยาวไปอีก โดยยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีแนวคิดที่จะล็อกดาวน์ทั้งประเทศ แต่เน้นการควบคุมเป็นรายจังหวัด ซึ่งในจังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่สีเขียวก็สามารถประกอบธุรกิจได้เกือบปกติ 

 

 

นอกจากนี้การที่รัฐบาลยังมี พ.ร.ก.ซอฟท์โลน 350,000 แสนล้านบาท ดูแลผู้ประกอบการรายย่อย ยังมี พรบ.รักษาเสถียรภาพระบบการเงินและความมั่นคงของเศรษฐกิจ วงเงินอีก 400,000 ล้านบาท รวมทั้งหมด มีวงเงิน 1.25 ล้านล้านบาท ได้สำรองไว้ใช้ในยามวิกฤติได้ เพื่อให้ทุกคนสามารถก้าวพ้นผ่านนี้ไปได้ด้วยดี

 

 

ส่วน พ.ร.ก.กู้เงินที่ลดจาก 700,000 ล้านบาท มาที่ 500,000 ล้านบาท นายสุพัฒนพงษ์ ชี้แจงว่า อยู่ในระดับที่น่าจะเพียงพอที่จะรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในขณะนี้ ซึ่งส่วนตัวยังเชื่อว่า การแพร่ระบาดอยู่ในช่วงท้ายๆ เพราะเริ่มมีการทยอยฉีดวัคซีนแล้ว 

 


" เงินกู้ 500,000 ล้านบาทไม่ได้เตรียมไว้ใช้ถึงเดือนก.ค. แต่เป็นการเตรียมสำหรับอนาคตในปี 65 ในกรณีที่อาจเกิดการระบาดในระลอกใหม่ขึ้นมา "นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

 

 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรอบวงเงินกู้ 500,000 ล้านบาท เป็นกรอบวงเงินที่เหมาะสมที่จะดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุข ช่วยเหลือเยียวยา ตลอดจนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของของ COVID-19 ระลอกใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง คาดว่าการดำเนินโครงการหรือแผนงานภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน COVID-19 ฉบับที่ 2 จะทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2564–2565 สามารถขยายตัวได้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1.5 จากกรณีฐาน ก่อนมีการตรา พ.ร.ก. กู้เงิน COVID-19 ฉบับที่ 2

 


การกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน COVID-19 ฉบับที่ 2 นี้ จะต้องนำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ภายใต้แผนงานหรือโครงการตามบัญชีแนบท้ายพระราชกำหนด ซึ่งประกอบด้วย 3 แผนงาน ได้แก่

 

 

(1) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของ COVID-19 วงเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุข

(2) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชยให้แก่ประชาชนในทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 วงเงิน 300,000 ล้านบาท 

(3) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 วงเงิน 170,000 ล้านบาท 

 


 
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) คาดว่า จะสามารถกู้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ก้อนแรกภายในสิ้นปี 2564 ที่จำนวน 1 แสนล้านบาท โดยประเมินว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 64-65 ให้ขยายตัวเฉลี่ยได้ไม่ต่ำกว่า 0.75% หรือช่วง 2 ปี ที่ 1.5% ส่งผลให้หนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือน ก.ย.2564 เมื่อรวมเงินกู้เดิม 1 ล้านล้านบาท ยอดหนี้จะอยู่ที่ 58.56% ต่อ GDP ซึ่งยังต่ำกว่ากรอบวินัยทางการคลังที่กำหนดไว้ที่ 60% ต่อ GDP

 

 

ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อกู้ครบ 500,000ล้านบาท จะส่งผลให้สิ้นปีงบประมาณ 2565 หนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ใกล้เคียงหรือแตะที่ 60% ต่อ GDP ซึ่งขณะนี้ ทีมงาน สบน.อยู่ระหว่างทบทวนแผนก่อหนี้สาธารณะ ซึ่งมีบางหน่วยงานจองวงเงินก่อหนี้ไว้ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ ทำให้หนี้เพิ่มกว่าความเป็นจริง ซึ่งเมื่อปรับปรุงแผนทั้งหมดแล้ว ก็จะทราบว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จะเป็นเท่าใด โดยหลังจากนี้ หน่วยงานที่จองวงเงินไว้ แต่ไม่ได้ดำเนินการ สบน.ก็จะเข้มงวด ไม่ให้มีการจองวงเงินก่อหนี้อีก

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง