ประกันสังคม เปิดรายละเอียดเงินทดแทนจากการขาดรายได้หากผู้ประกันตนลาป่วย
สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เผยแพร่ข้อมูล โดยระบุว่า ผู้ประกันตนคนไหน เจ็บป่วยถึงขั้นต้องนอนโรงพยาบาล ไม่ต้องกังวลว่าจะขาดรายได้จากการทำงาน เพราะสำนักงานประกันสังคม มีเงินชดเชยให้จากการขาดรายได้หลังลาป่วย มีรายละเอียด ดังนี้
ผู้ประกันตนมาตรา 33
หากลาป่วยเกิน 30 วัน สามารถเบิกเงินกรณีขาดรายได้ 50 % ของฐานค่าจ้าง ไม่เกิน 15,000 บาท แต่ต้องส่งเงินสมทบอย่างน้อย 3 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเจ็บป่วย
ผู้ประกันตนมาตรา 39
ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% โดยคิดจากฐานในการคำนวณเงินสมทบ 4,800 บาท แต่ต้องส่งเงินสมทบอย่างน้อย 3 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนเจ็บป่วย
ผู้ประกันตนมาตรา 40
ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ตามทางเลือก 1-2-3 ดังนี้
1. ผู้ป่วยใน หากนอนพักรักษาตัว 1 วันขึ้นไป ได้รับเงินชดเชย 300 บาท/วัน (ทางเลือกที่ 1-2-3)
2. ผู้ป่วยนอก แต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป ได้รับเงินชดเชย 200 บาท/วัน (ทางเลือกที่ 1-2-3)
3. ผู้ป่วยนอกที่ไปพบแพทย์ และมีใบรับรองแพทย์มาแสดง ได้รับเงินชดเชย 50 บาท ไม่เกิน 3 ครั้ง/ปี (ทางเลือกที่ 1-2)
สำหรับระยะเวลาในการรับเงินชดเชยสูงสุด
ทางเลือกที่ 1-2 จะมีระยะเวลาการรับเงินชดเชยสูงสุด 30 วัน
ทางเลือกที่ 3 จะมีระยะเวลาการรับเงินชดเชยสูงสุด 90 วัน
ขั้นตอนในการยื่น
1. เตรียมเอกสารที่กำหนดไว้ตามแต่ละมาตราให้พร้อม (สามารถเช็กเอกสารสำหรับผู้ประกันตนแต่ละมาตราได้ที่ : www.sso.go.th)
2. ตรวจสอบเอกสารให้ถูกต้อง ครบถ้วนก่อนส่ง
สามารถส่งเอกสารได้ 2 แบบ
1. ส่งทางไปรษณีย์
2. สามารถยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ (ยกเว้นที่สำนักงานใหญ่)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคมได้ที่ www.sso.go.th หรือโทรสายด่วน 1506 ให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
ภาพจาก AFP / ประกันสังคม