รีเซต

'นิพิฏฐ์' ชี้เหตุรื้อ 'บ้านเขียว' เพราะไม่รู้คำจำกัดความ 'โบราณสถาน'

'นิพิฏฐ์' ชี้เหตุรื้อ 'บ้านเขียว' เพราะไม่รู้คำจำกัดความ 'โบราณสถาน'
มติชน
22 มิถุนายน 2563 ( 10:04 )
111
'นิพิฏฐ์' ชี้เหตุรื้อ 'บ้านเขียว' เพราะไม่รู้คำจำกัดความ 'โบราณสถาน'
‘นิพิฏฐ์’ ชี้เหตุรื้อ ‘บ้านเขียว’ เพราะไม่รู้คำจำกัดความ ‘โบราณสถาน’ ฝากความหวังกรมศิลป์เยียวยาชาวแพร่

เมื่อวันที่ 22 นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” แสดงความคิดเห็นกรณีการรื้อถอนอาคารบอมเบย์ เบอร์มา หรือ บ้านเขียว อายุกว่า 100 ปี ในพื้นที่ จ.แพร่ ว่า ความผิดพลาดดังกล่าวเป็นเพราะหน่วยงานราชการไม่ทราบคำจำกัดความของคำว่า “โบราณสถาน” คิดว่าต้องขึ้นทะเบียนไว้ต่อกรมศิลปากรแล้วเท่านั้นจึงเป็นโบราณสถาน และว่า เรื่องนี้ ต้องฝากความหวังไว้กับกรมศิลปากรสร้างใหม่ให้มีลักษณะเหมือนเดิม มั่นใจว่าไม่เกินความสามารถของกรมศิลปากรที่จะสร้างให้เหมือนเดิม เพื่อเยียวยาจิตใจของชาวแพร่ และผู้หวงแหนโบราณสถานของชาติ

 

ทั้งนี้ข้อความระบุว่า

*โบราณสถาน
-ข่าวการรื้ออาคารเก่าเมืองแพร่ ซึ่งเดิมเป็นที่ทำการของบริษัท บอมเบย์ เบอร์มา อายุกว่า 100 ปี คงเป็นความผิดพลาดที่ส่วนราชการไม่ทราบว่าคำจำกัดความของคำว่า “โบราณสถาน” คืออะไร คงคิดว่าต้องขึ้นทะเบียนไว้ต่อกรมศิลปากรแล้วเท่านั้นจึงเป็นโบราณสถาน ความจริงโบราณสถาน ตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ พ.ศ.2504 หมายความว่า “อสังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการก่อสร้าง หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลป ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี ทั้งนี้ ให้รวมถึงสถานที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์ และอุทยานประวัติศาสตร์ด้วย”

 

-ดังนั้น โบราณสถานจึงไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนไว้ หากมีความสำคัญตามคำจำกัดความของกฎหมาย ก็ถือเป็นโบราณสถานแล้ว โบราณสถานจึงมี 2 ประเภท คือ ที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว กับ ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน หน่วยราชการคงเห็นว่า เมื่อไม่ขึ้นทะเบียนไว้ จึงไม่เป็นโบราณสถาน ก็คงรื้อได้ ความผิดพลาดจึงเกิดขึ้น ก็คงเป็นบทเรียนให้ส่วนราชการที่ครอบครองอาคารเก่าๆ แบบนี้ ได้ตระหนักต่อไป ผมเห็นใจผู้ว่าราชการจังหวัด และส่วนราชการที่ครอบครองอาคาร คงไม่มีเจตนารื้อหรอก แต่เพราะไม่เข้าใจมากกว่า

-ตอนนี้ ก็คงหวังฝากความหวังไว้กับกรมศิลปากร ว่าจะสร้างใหม่ให้มีลักษณะเหมือนเดิม เรื่องเหล่านี้ มั่นใจเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากรได้ครับว่า ไม่เกินความสามารถของกรมศิลปากร ที่จะสร้างให้เหมือนเดิม ทั้งนี้ เพื่อเยียวยาจิตใจของชาวแพร่ และผู้หวงแหนโบราณสถานของชาติ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง