กรมศิลปากร ร่วมกับ มรภ.อุดรธานี เตรียมเสนอ“ภูพระบาท” เป็นมรดกโลก
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2565 ณ “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี จัดกิจกรรมครบรอบ 30 ปี สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เมื่อ 26 มิถุนายน 2535 หลังจากกรมศิลปากรประกาศพื้นที่ 4,340 ไร่ เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท 28 เมษายน 2524 ก่อนเข้าดำเนินการอนุรักษ์-พัฒนา ปี 2532 และล่าสุดเปิดศูนย์บริการนักท่องเที่ยวใหม่
โดยจัดให้มีบรรยายพิเศษ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต คุณค่าและความสำคัญประวัติศาสตร์โบราณคดี-ความสัมพันธ์กับสังคมในพื้นที่-คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลก้าวสู่มรดกโลก-ภาพรวมการร่วมบริหารจัดการ จาก ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ม.ศิลปากร , ศ.ดร.ชวลิต อธิปัตยกุล ม.รภ.อุดรธานี , นายบวรเวท รุ่งรุจิ ประธานสมาคมอีโคโมสไทย และนายกิตติพันธุ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งมีหน่วยงานในพื้นที่ ผู้นำองค์กรปกครองท้องถิ่น ผู้นำชุมชน กลุ่มอาชีพฯ เข้าร่วมรับฟัง
ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ ศิลปะ โบราณคดี ม.ศิลปากร กล่าวว่า สภาพโขดหินที่ถูกเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ กับความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำให้เกิดการประกาศเขตศักดิ์สิทธิ์ จึงได้นำ “หลักสีมา” หรือ “ใบเสมา” มากำหนดพื้นที่เพื่อใช้ประกอบพิธี ที่พบเห็นในหลายพื้นที่ แต่ที่ภูพระบาทมีความโดดเด่น ไม่ได้ถูกทำลายหรือเคลื่อนย้ายไป แต่ละจุดมีความสำคัญต่างกันไป เปรียบเหมือนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญ และมีความสำคัญและสมบูรณ์กว่าที่อื่น
“เพิ่มหินที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ ถูกแต่งปรับเปลี่ยนเป็นที่เคารพ นำใบเสมากำหนดแนวเขต กระจายอยู่ทั่วภูพระบาท โดยมีจุดน่าสนใจ 2 จุด ๆ แรก บริเวณลานหินข้างโขดหินชื่อถ้ำพระ มีลักษณะเป็นลานมณฑลพิธี ที่ถูกรายล้อมด้วยใบเสมาเป็น 2 ชั้น มีหลักฐานยืนยันการมีกิจกรรมต่อเนื่อง จุดที่สองที่พระพุทธบาทบังบาน ใบเสมาทั้งหมดอยู่ครบ บางส่วมล้มลงถูกฝังไว้ เมื่อนำทั้งหมดตั้งขึ้น จะเป็นการนำใบเสมาซ้อนกัน 3 ชั้น ทั้งขนาด-ความสูง-ความหนา ไม่เคยพบที่ไหนมาก่อน ”
ศ.ดร.ชวลิต อธิปัตยกุล คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มรภ.อุดรธานี กล่าวว่า มรภ.อุดรธานี ได้ลงพื้นที่ศึกษาต่อเนื่อง และได้ร่วมกับคณะทำงาน ในส่วนการมีส่วนร่วมคนในพื้นที่ ประชาชนมีการตื่นตัวในการอนุรักษ์ จากการพบใบเสมาบนภูพระบาท ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ที่ไม่เคยถูกรบกวนหรือเคลื่อนย้าย ข้อมูลที่รับแจ้งเข้ามาทำให้เรา “หัวใจพองโต” เพราะพบแหล่งใบเสมาในพื้นราบ รายล้อมบริเวณภูพระบาท รวมแล้วมากมากทุกแหล่งที่เคยพบ ซึ่งแหล่งที่พบมากจะลงมาทางทิศใต้ และแหล่งที่พบมักจะเป็นพื้นที่ “ดอน” หรือพื้นที่สูง
นายบวรเวท รุ่งรุจิ ประธานสมาคมอีโคโมสไทย กล่าวว่า ประเทศไทยได้จัดทำเอกสาร พร้อมจะนำเสนอต่อยูเนสโกแล้ว แต่ยังมีขั้นตอนอีกบ้าง โดยนำเสนอว่าที่นี่คือ “วัฒนธรรมสีสา เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวที่พบในประเทศไทย และยังคงอยู่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน อาทิ การสร้างโบสถ์เราต้องต้องฝังใบเสมา หากจะดูใบเสมาเมื่อพันปีก่อนต้องมาดูที่ “ภูพระบาท” มีที่ของเราที่เดียว เหมาะสมเป็นมรดกโลก
นายกิตติพันธุ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า เราได้จัดทำข้อมูลเป็นเอกสารแล้ว มีทั้งเอกสารเป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ได้ดูแล้วก็เห็นว่าสมบูรณ์ ที่นำเสนอเป็นมรดกโลก 2 ข้อ คือ ข้อ 3 เป็นพยานหลักฐานที่ยอดเยี่ยม หรือหาที่เสมาเหมือนไม่ได้ ของประเพณีวัฒนธรรม หรือวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่หรือสาบสูญไปแล้ว และข้อ 5 เป็นหลักฐานอันโดดเด่นของกหารตั้งถิ่นฐานมนุษย์ การปฏิสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อสภาพสิ่งแวดล้อม
“ เราจะต้องนำเสนออีก 3 ขั้นตอน ที่ตั้งเป้าว่าคือใช้เวลา 3-4 เดือนหากไม่มีการแก้ไข เพื่อเสนอยูเนสโกให้ทันภายใน ม.ค.66 คือ 1.เสนอเข้าสู่อนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม , 2.เสนอเจ้าคณะกรรมการมรดกโลกไทย และ 3.เสนอเข้า ครม. ซึ่งแต่ละขั้นตอนก็จะมีนักวิชาการ-ผู้เชี่ยวชาญ ที่จะแนะนำหรือตั้งข้อสังเกต ก็ต้องรับเพื่อนำไปปรับแก้ นำเสนอต่อในขั้นอื่นต่อไป หากทุกขั้นตอนเป็นไปตามแผนงาน ก็ต้องติดตามดูว่ายูเนสโก จะนำเรื่องภูพระบาทเข้าพิจารณาเมื่อใด ส่วนตัวมั่นใจเอกสารสมบูรณ์แล้ว ”